การผายลมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกคน ซึ่งถ้าหากไม่มีการผายลมเลย อาจจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย ดังนั้น การผายลมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การผายลมมีกลิ่นเหม็น และผายลมบ่อย ๆ อาจเป็นเรื่องผิดปกติ
โดยจากข้อมูลแล้ว การผายลมเป็นกระบวนการทางชีวภาพของร่างกายที่เกิดขึ้นกับทุกคนเป็นปกติ เฉลี่ยประมาณ 6-20 ครั้งต่อวัน มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมแก๊สในระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารบางชนิดหรือพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันของเรา
สาเหตุของการผายลม
ส่วนใหญ่จะถูกขับออกมาด้วยการเรอ แต่ก็มีบางส่วนที่ลงไปสู่ระบบย่อยอาหาร ผ่านลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และขับออกมาในรูปแบบของการผายลมได้เช่นกัน ซึ่งอาหารที่รับประทาน ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมแก๊สในระบบย่อยอาหาร
1.ผักและผลไม้ที่มีน้ำตาลบางชนิด และอาจทำให้เกิดแก๊สในท้องขณะย่อย เช่น บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ลูกท้อ แอปเปิล รวมถึงผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ เช่น ถั่วลันเตา
2.หมากฝรั่งและลูกอมบางชนิด ที่มีส่วนประกอบเป็นสารให้ความหวานอย่างซอร์บิทอล (Sorbitol)
3.แป้งหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากธัญพืช ขนมปัง ข้าวโพด มันฝรั่ง ยกเว้น ข้าว ที่ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดแก๊ส
4.นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารที่ทำจากนมอย่างไอศกรีม ชีส หรืออาหาระไรก็ตามที่มีแลคโตส นอกจากจะทำให้เกิดแก๊สแล้วยังทำให้มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
5.ข้าวโอ๊ต อีกหนึ่งอาหารที่สามารถทำให้เกิดแก๊สในท้อง เพราะมีเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำสูง การรับประทานข้าวโอ๊ตจึงควรเริ่มจากปริมาณน้อยไปมาก เพื่อให้ร่างกายปรับตัว
6.ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว ซึ่งก็มีน้ำตาลแรฟฟิโนสเช่นกัน อีกทั้งยังประกอบด้วยเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ
7.เครื่องดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน เครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลให้มีแก๊สในท้องจนรู้สึกไม่สบายท้องได้ เนื่องจากในโซดามีการอัดอากาศหรือแก๊สเข้าไป รวมถึงฟรุกโตสซึ่งเป็นน้ำตาลที่ให้ความหวานและอาจย่อยได้ยาก
การกลืนอากาศมากเกินไป เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา
1. เคี้ยวหมากฝรั่ง
2. อมลูกอมหรืออมอาหารบางชนิด
3. รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำอย่างรวดเร็วจนเกินไป
4. ดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม
5. ดื่มน้ำจากหลอด
6. กลืนน้ำลายบ่อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกวิตกกังวล
7. สวมใส่ฟันปลอมที่หลวมเกินไป
8. สูบบุหรี่
หากเราทำพฤติกรรมหรือยังรับประทานอาหารประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เบื้องต้นอยู่ เราจะมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อุดตัน อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร โรคโครห์น และโรคแพ้กลูเตน
หากเราผายลมมีกลิ่นเหม็นบ่อยครั้ง รวมไปถึงมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย อาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรง
• ปวดท้องและท้องอืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
• มีอาการท้องเสียหรือท้องผูกเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• กลั้นอุจจาระไม่อยู่
• มีเลือดปนในอุจจาระ
• มีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อต่อ เป็นต้น
วิธีป้องกันการผายลมเหม็นหรือผายลมบ่อย
1. ลดอาหารที่มีเส้นใยอาหาร น้ำตาลธรรมชาติ และแป้งที่ย่อยยาก ได้แก่ ผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิลแดง แอปเปิลเขียว กล้วย แตงโม ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวโอ๊ต ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มน้ำอัดลมต่าง ๆ รวมถึงน้ำผลไม้ เบียร์ ไวน์ อาหารจากไข่ อาหารทอดหรืออาหารที่มีไขมันสูง
2. รับประทานอาหารและดื่มน้ำช้า ๆ เพราะการรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้มีการกลืนอากาศลงไปมากและเกิดแก๊สตามมาในที่สุด
3. อย่าดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร เพราะจะทำให้สูญเสียกรดที่ใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารถูกย่อยสลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดีควรดื่มน้ำในช่วง 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยให้กระเพาะสามารถย่อยได้ดีขึ้น
4. เลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือดื่มน้ำจากหลอด
หากคุณอยากสุขภาพดี ต้องหมั่นดูแลตัวเอง ใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารให้มากขึ้น และคอยสังเกตอาการตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เพราะจะทำให้คุณสบายใจและเข้าสังคมได้อย่างไม่ต้องอายใคร
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : เว็บไซต์ PobPad
ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร