xs
xsm
sm
md
lg

อาหารประเภทไหน? กินแล้วดีต่อผู้สูงวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเข้าสู่วัยชราหรือผู้สูงอายุแล้วนั้น แน่นอนว่าการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละเมนูนั้นจะต้องมีความพิถีพิถันอยู่พอสมควร ซึ่งดูแล้วอาจจะเรื่องมากไปสักหน่อย แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของแต่ละคนด้วยแล้ว เพราะฉะนั้น อาจจะต้องใส่ใจหน่อย เพื่อประโยชน์กับตัวผู้สูงอายุเอง

สารอาหารที่ผู้สูงอายุควรรับประทาน ได้แก่ 

1. โปรตีน

โดยความต้องการสารอาหารในผู้สูงอายุทั่วไปที่ไม่มีโรคประจําตัวรุนแรงนั้น ไม่ได้ต่างจากวัยกลางคน ที่ความต้องการโปรตีนจะสูงขึ้นเพื่อกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ โดยน้ำหนักตัวทุก ๆ 10 กิโลกรัม ควรทานโปรตีน 3-4 ช้อนโต๊ะต่อวัน

ฉะนั้นควรเลือกโปรตีนที่เคี้ยวง่ายหรือไม่ต้องเคี้ยว เช่น ไข่ตุ๋น เนื้อปลา หมูสับหมักนิ่มหรือเนื้อสัตว์ตุ๋นจนนิ่ม นม เต้าหู้ เลือดหมู หรือไก่ เป็นต้น โดยสลับทานทั้งเนื้อสัตว์สีแดงและสีขาว เพื่อให้ได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอ

2. คาร์โบไฮเดรต

ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรต มื้อละประมาณ 3-4 ทัพพี โดยเลือกแป้งประเภทนิ่ม เช่น ข้าวต้ม ข้าวหุงนิ่ม ๆ ขนมปังนิ่ม ๆ ฟักทอง มันนึ่ง หรือวุ้นเส้น เป็นต้น

3. ผักผลไม้

การรับประทานให้หลากหลายจะช่วยให้ระบบร่างกายทํางานได้ดีขึ้น และป้องกันท้องผูก ซึ่งการรับประทานผักมื้อละ 1-2 ทัพพี และผลไม้มื้อละ 1 ฝ่ามือ โดยให้เลือกแบบที่นิ่มหรือไม่ต้องเคี้ยว เช่น ผักที่ต้มหรือปรุงจนนิ่ม ส้ม มะละกอ แก้วมังกร แตงโม มะม่วงสุก กล้วยสุก ผักหรือผลไม้ปั่นพร้อมกาก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การรับประทานน้ำมันและน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาหรือซีอิ๊วไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน จะช่วยป้องกันโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และอีกหลาย ๆ โรคในผู้สูงอายุได้

นอกจากนี้ การดื่มนมวัวหรือนมถั่วเหลืองก็สําคัญ ซึ่งนมถั่วเหลืองแนะนําประเภท UHT เนื่องจากมีการเติมแคลเซียมให้เท่าแคลเซียมในนมวัว โดยทานวันละ 1-2 แก้ว จะช่วยรักษามวลกระดูกและกล้ามเนื้อ และการออกไปโดนแดดบ้างในช่วงเวลา 10.00 -15.00 น. จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีที่เพียงพอขึ้น


อาหารอะไรบ้าง? ที่ผู้สูงอายุควรมองข้าม

-อาหารรสจัด
-อาหารที่มีไขมันสูง
-อาหารหวาน
-ผลไม้ที่มีแป้งและรสหวานจัด เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย
-อาหารที่มีพลังงานสูง แป้ง น้ำตาล
-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ทำอย่างไรดี? หากผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

ในช่วงวัยผู้สูงอายุ จะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร เช่น ต่อมรับรสและกลิ่นลดลง หรือเปลี่ยนรสชาติไป ฟันมีปัญหา ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหาร รับประทานน้อย หรือบางคนเลือกรับประทาน ดังนั้น การจัดเตรียมอาหารโดยดัดแปลงให้เหมาะสม จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และจะช่วยลดปัญหาทางโภชนาการของผู้สูงอายุได้ โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

-เปลี่ยนรูปแบบอาหารให้รับประทานง่ายขึ้น จากเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้น ๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเนื้อสัตว์สับละเอียดหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ แทน หรือปรุงให้มีลักษณะค่อนข้างเหลว เปื่อยนุ่ม เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ไม่ฝืดคอ หลีกเลี่ยงการกินผักสด ให้เปลี่ยนมาเป็นผักต้มแทน ซึ่งย่อยง่ายกว่า


-ปรุงรสชาติตามความชอบของแต่ละคน ผู้สูงอายุแต่ละคนจะมีการรับรสชาติที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน บางคนชอบอาหารที่มีรสหวานมากขึ้น บางคนชอบรสขมๆ ทั้งที่ในวัยหนุ่มสาวไม่ชอบ เช่นนั้น รสชาติที่ปรุงควรจะปรับเปลี่ยนไปตามความชอบของแต่ละคน เช่น หวานขึ้นเล็กน้อย จืดลง ไม่ควรเค็มมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจัดอาหารที่มีรสจัด หรือมีเครื่องเทศมากให้แก่ผู้สูงอายุเพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายได้


-สลับหรือปรับเปลี่ยนเมนูให้มีความหลากหลาย เมื่อผู้สูงอายุมีความเบื่ออาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่รับประทานอะไรที่เหมือนเดิมบ่อย ๆ ก็ยิ่งจะเพิ่มความไม่อยากอาหารมากขึ้น เช่นนั้นต้องเปลี่ยนเมนู เปลี่ยนวัตถุดิบในการนำมาประกอบอาหาร ก่อนมื้ออาหารลองกระตุ้นความอยากอาหารด้วยน้ำขิง น้ำใบเตย หรือน้ำมะตูม


-ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อ แล้วลองเปลี่ยนให้กินอาหารมื้อเล็ก ๆ แบ่งเป็น 4-5 มื้อต่อวัน แทนอาหารจานใหญ่หรือมื้อใหญ่ ๆ หรือจัดเวลารับประทานอาหารและของว่างอย่างตรงเวลา โดยวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผู้สูงอายุรับรู้ถึงเวลาอาหาร และอาจจะรับประทานได้มากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : พบแพทย์ดอทคอม, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์


กำลังโหลดความคิดเห็น