หลังจากมีข่าวประกาศว่าในช่วงนี้ราคาเนื้อสัตว์ขึ้นแพงมาก ทำให้ใครหลาย ๆ คน ต้องคิดหนักก่อนที่จะซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว แต่เนื้อสัตว์ที่เป็นประเด็นอยู่ในช่วงนี้ นั่นก็คือ “เนื้อหมู”
หลายสำนักข่าวได้หาสาเหตุมาอธิบายให้กับทุกคนว่า ทำไมหมูถึงแพงขึ้น เกิดจากสาเหตุอะไร และแล้วเราก็ได้คำตอบว่า
ราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี มีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก ปัญหาโรคระบาดในหมูที่กระจายเป็นวงกว้าง และเห็นได้ชัดว่าหมูอาจเสี่ยงเป็น “โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF)” ทำให้จำเป็นต้องกำจัดหมูที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค จึงทำให้หมูที่จะใช้บริโภคมีปริมาณน้อยลง ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค
ASF ย่อมาจาก African Swine Fever หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในหมูที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Asfivirus เป็น DNA virus ที่มีความคงทนสูงในสภาพแวดล้อม จะอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน และอยู่ในเนื้อหมูที่แช่แข็งได้หลายปี พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2464 (ที่มาของชื่อ ASF) ปัจจุบันมีการระบาดแพร่ไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย สำหรับทวีปเอเชีย พบการระบาดครั้งแรกที่จีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ปัจจุบันได้แพร่ออกไปสู่มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา และล่าสุดที่ประเทศเกาหลีเหนือ รวม 5 ประเทศ
โรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อไปสู่คน ติดในสัตว์ประเภทหมูเท่านั้น ทั้งหมูเลี้ยง และหมูป่า เชื้อไวรัสจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน ซึ่งประเทศที่มีการระบาดของโรคดังกล่าว จะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม
จากคำถามที่ทุกคนอยากรู้ คือ หากกินหมูที่ติดเชื้อ ASF เข้าไป จะส่งผลอย่างไรกับร่างกายหรือไม่?
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ยืนยันว่า “สามารถรับประทานเนื้อหมูได้ตามปกติ” เพียงแต่ควรทำความสะอาดให้ดีและปรุงสุกทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าจะได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดเชื้อ ปลอดภัย นอกจากนี้ ควรงดการรับประทานเนื้อหมูที่สุก ๆ ดิบ ๆ และแนะนำว่าควรเลือกซื้อสินค้าจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้
การที่หมูติดเชื้อ ASF เกิดจากการกินเศษอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป และการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมากับคน สิ่งของ รถขนส่ง และสัตว์พาหะ ซึ่งสัตว์พาหะที่สามารถนำโรคได้โดยตรง ได้แก่ เห็บอ่อน ที่พบในทวีปแอฟริกาและยุโรปเท่านั้น ไม่พบในประเทศไทย
เชื้อโรค ASF มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1.อยู่ในมูลหมู และสิ่งแวดล้อม ได้ประมาณ 1 เดือน
2.อยู่ในซากสัตว์ และในดินได้ถึง 3 เดือน
3.อยู่ในเนื้อแปรรูป เนื้อแห้ง ได้ถึง 1 ปี
4.อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ถึง 3 ปี
หมูที่ติดเชื้อจะมีอาการและรอยโรค ASF
1.มีอาการไข้สูง
2.จุดเลือดออก
3.อาเจียน
4.ถ่ายเป็นเลือด และตายเกือบ 100%
โดยหมูจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-4 วัน
เราสามารถสังเกตุเบื้องต้นจากอาการและรอยโรค และทดสอบด้วยวิธี ASF Rapid test โดยหยดเลือดสดลงบน Testkit แล้วอ่านผล ส่วนการยืนยันผลควรใช้วิธี ASF-ELISA สำหรับตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อหมูติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7-14วัน และวิธีตรวจ ASF-PCR สำหรับตรวจเชื้อไวรัสในกระเเสเลือดและเนื้อเยื่อในร่างกายหมู ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อหมูติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 3 วัน
หากต้องการฆ่าเชื้อโรค ASF เราสามารถกำจัดด้วยความร้อน 60°C ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และมีรายงานการทดสอบยาฆ่าเชื้อส่วนใหญ่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ หรือโดยทั่วไปจะใข้ 1:200 เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น โดยมีระยะเวลาหลังฆ่าเชื้อประมาณ 5-30 นาที
เรามีเคล็ดลับในการป้องกันฟาร์มหมูให้ห่างไกลจากโรค ASF เป็นมาตรการป้องกัน 9 วิธีในการหลีกเลี่ยงโรค ASF มีดังนี้
1. การใช้มาตรการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างเข้มงวด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่นำทั้งหมูติดเชื้อที่ยังมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเข้ามาในพื้นที่ปลอดโรค ASF ประเทศที่เคยเกิดการระบาดของโรค ASF อาจสั่งให้มีการจำกัดหรือห้ามส่งออกสัตว์ได้หากตรวจพบเนื้อสัตว์ที่มีการติดเชื้อ ตรวจสอบรายชื่อภูมิภาคที่มีการติดเชื้อก่อนนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อน
2. ทำการกำจัดเศษอาหารทุกชนิดจากเครื่องบินหรือเรือ ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการติดเชื้ออย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ควรนำเศษอาหารของมนุษย์ไปเลี้ยงหมูโดดเด็ดขาด
3. ฆ่าเชื้อและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหมูด้วยเศษอาหาร (เช่น นำเศษขยะไปให้หมูกิน) การเลี้ยงด้วยเศษอาหารเหลือจากบริการจัดเลี้ยงถือเป็นแนวปฏิบัติที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากเศษอาหารดังกล่าวปนเปื้อนเชื้อ ASF อาจทำให้ฝูงหมูที่แข็งแรงติดโรคได้ อย่าทิ้งเศษอาหารไว้ให้หมูป่าสามารถเข้าถึงได้ ควรกำจัดซากหมูส่วนที่เหลือทิ้งจากหมูในโรงเชือดและเศษอาหารอย่างเหมาะสม
4. กำจัดหมูทั้งหมดอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ สัตว์ที่หายจากโรคหรือสัตว์ที่รอดตายจะเป็นพาหะของไวรัสโรคนี้ไปตลอดชีวิต ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคไปยังหมูตัวอื่น ๆ และเพื่อป้องกันมิให้โรคระบาดขึ้นใหม่ การกำจัดหมูตัวที่ติดเชื้อและตัวที่อาจติดเชื้อจึงมีความปลอดภัยมากกว่า การกำจัดหมูในวงรัศมีรอบ ๆ อาจเป็นวิธีที่กำจัดโรคที่ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดและหยุดการระบาดได้เร็วที่สุด
5. กวดขันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม ดูแลให้ปราศจากไวรัสและแบคทีเรียด้วยการปฏิบัติตามกฎด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งได้แก่การฆ่าเชื้อเสื้อผ้าและรองเท้าบูทอย่างถูกต้อง รวมถึงไม่นำผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่ยังไม่ผ่านความร้อนอย่างเหมาะสมเข้าสู่ฟาร์ม และทางฟาร์มควรจัดเตรียมรองเท้าและเสื้อผ้าสำหรับใส่ในฟาร์มไว้เป็นการเฉพาะ
6. การเคลื่อนย้ายสัตว์และมนุษย์ภายใต้การควบคุม หมูที่จัดหามาควรมาจากแหล่งผู้จัดหาที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรอง เนื่องจากยานพาหนะ อุปกรณ์ และคนอาจเป็นวัตถุพาหะนำเชื้อโรค ASF ได้เช่นกัน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้ามาในฟาร์มไม่มีการสัมผัสกับหมูอื่นใดในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้มาเยือนฟาร์มที่เพิ่งไปประเทศที่เคยเกิดการระบาดของโรค ASF ต้องทิ้งระยะเวลาอย่างน้อย 5 วันก่อนเข้าฟาร์ม ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะและอุปกรณ์อย่างถูกต้องก่อนเข้ามาในบริเวณ เนื่องจากสารคัดหลั่งและสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ที่เจ็บป่วยหรือตายถือเป็นแหล่งโรค ASF ดังนั้น รถบรรทุกขนซากสัตว์จึงมีความเสี่ยงสูงและไม่ควรให้เข้ามาในฟาร์มโดยเด็ดขาด
7. การสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังโรค การดำเนินการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องทำการขนย้ายหมูมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู นอกจากนั้นฟาร์มหมูเองก็ควรมีการเฝ้าระวังด้านสุขภาพอย่างเข้มงวดด้วย โดยควรตรวจสอบและทดสอบหาเชื้อ ASF ในหมูที่ป่วยหรือตายทุกตัว หมูที่ถูกเชือดเพื่อการบริโภคในบ้านก็ควรถูกตรวจหาเชื้อ ASF โดยสัตวแพทย์ที่มีใบรับรองด้วย นอกจากนั้นควรมีการฝึกอบรมพนักงานถึงวิธีป้องกันโรค ใช้วิธีการประเมินคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงจดบันทึกส่วนผสมในอาหารสัตว์ทุกวัน
8. การตรวจพบไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วด้วยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ แจ้งสัตวแพทย์โดยทันทีเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณของโรค ASF และนำหมูเข้ารับการตรวจหาเชื้อ
9. เกณฑ์การกักโรคอย่างเข้มงวด ควรใช้มาตรการการกักโรคอย่างเข้มงวดทั้งในเขตที่ปราศจากโรค ASF และเขตติดเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่เข้ามาและ/หรือเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของโรค ASF
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 , เว็บไซต์ Alltech
ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร