ช่วงนี้พักอยู่บ้านนาน ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่หลาย ๆ คน น้ำหนักขึ้นกันบ้างแล้วใช่ไหม รู้หรือเปล่าว่าน้ำหนักขึ้นไม่ได้ส่งผลแค่นำพาโรคร้ายเข้ามาเท้านั้น แต่จะส่งผลเสียต่อกิจวัตรประจำวันด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการข้อเข่าเสื่อม หรือรองช้ำ ที่มีปัจจัยหลัก ๆ น้ำหนักของเรานั่นเอง
“โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ” หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “รองช้ำ” คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า สาเหตุเกิดจากการใช้งานเท้าที่หนักกว่าปกติ เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักมีอาการเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ
รองช้ำ จะมีอาการปวดบริเวณใต้ฝ่าเท้า โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอนเวลาเดินลงน้ำหนักในช่วง 3-4 ก้าวแรก เมื่อเดินไปสักพักอาการปวดจะลดลง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาใช้งานลงน้ำหนักเท้ามาก ๆ และดีขึ้นเมื่อมีการพักใช้งาน ถ้าเป็นนาน ๆ อาจมีหินปูนเกาะบริเวณส้นเท้า
นอกจากจะมีปัจจัยให้เป็นรองช้ำจากน้ำหนักตัวแล้ว ยังมีกลุ่มคนเสี่ยงที่จะทำให้เป็นรองช้ำได้เหมือนกัน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย กลุ่มผู้ที่ต้องยืนนาน ๆ เดินนาน ๆ เป็นประจำ กลุ่มผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนหรือโก่งกว่าปกติ หรือมีท่าทางการเดินที่ผิดปกติ และกลุ่มผู้ที่ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือบางเกินไป
ป้องกันก่อนที่จะเป็น “รองช้ำ”
- เลือกรองเท้าให้เหมาะกับชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกายหรือเดินมากเกินไป
- สำหรับสาวๆ ที่สวมรองเท้าส้นสูงมาก ๆ หรือสวมเป็นเวลานาน หากมีเวลาพักควรถอดรองเท้าออก และฝึกยืดน่องบ่อย ๆ
- ผู้ที่มีเท้าผิดรูป เช่น ฝ่าเท้าแบนหรือโก่งเกินไป ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดรองเท้าพิเศษ ให้เข้ากับรูปเท้าช่วยลดการบาดเจ็บและป้องกันโรครองช้ำได้
หากเป็น “รองช้ำ” การรักษาให้หายขาดก็มีด้วยกัน 6 วิธี
1. การพักและใช้ยาลดอาการอักเสบ การลดการเดินทาง (ใช้ไม้พยุง) การประคบความเย็นหรือประคบน้ำแข็งประมาณ 20 นาที 3-4 ครั้ง/วัน ในตอนเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ดี การรับประทานยาลดอาการอักเสบ ควรพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานเกิน 2-3 สัปดาห์
2. การบริหาร การบริหารเอ็นร้อยหวายและพังผืดฝ่าเท้าที่เหมาะสม จะช่วยทั้งรักษาและป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด
การบริหารเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย
- ยืนหันหน้าเข้าฝาผนัง แล้วดันมือกับผนังก้าวขาที่ต้องการยืดไปด้านหลัง ส้นเท้าติดพื้นย่อเข่าหน้าจนรู้สึกตึงขาด้านหลัง ทำค้างประมาณ 30-60 วินาที ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง/วัน
- ยืนบันได โดยยืนแค่ปลายเท้าหน้าทำให้รู้สึกต้นขาตึง ทำค้างประมาณ 30-60 วินาที ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง/วัน
- นำผ้ามายึดเท้า โดยการยืดขาเหยียดตรง แล้วนำผ้ามาผันไว้ปลายเท้าและดึงเข้าหาตัวเองทำค้างประมาณ 30-60 วินาที ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง/วัน
3. การใช้แผ่นรองส้นเท้า การใช้แผ่นรองเท้าที่อ่อนนุ่ม หรือสวมรองเทืที่เหมาะสม ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และการใส่เฝือกอ่อนจะช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ข้อเท้า อาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดอาการอักเสบในช่วงแรกได้ดี
4. การรักษาด้วยความถี่ (Shock Wave) เป็นการกระตุ้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าให้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงซ่อมแซมตัวเอง ได้ผลการรักษาใกล้เคียงการผ่าตัด
5. การผ่าตัด (ส่วนน้อย) หากรับการรักษาแล้วแต่ยังมีอาการไม่หายขาด จึงมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดพังผืดเท้าบางส่วน และนำหินปูนที่กระดูกส้นเท้าออก
6. การฉีดยาลดการอักเสบ ไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณส้นเท้า เนื่องจากจะทำให้รักษาได้ยากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกติดเชื้อ ไขมันฝ่าเท้าฝ่อ หรือเอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด ซึ่งยากต่อการรักษามาก
ข้อควรระวัง ในบางกรณีการบาดเจ็บส้นเท้าอาจไม่ได้เกิดจากเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากทำการบริหารและยังมีอาการเจ็บอยู่อีก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและประมาณ 90 % ของคนที่เป็นรองช้ำ มักจะดีขึ้นหลังจาก 2 เดือน หลังได้รักการรักษาที่เหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการรุณย์ , โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลสินแพทย์