การวิ่ง ถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งเพื่อทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญได้ดีและเร็วขึ้น แถมยังเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ร่างกายด้วย
ประโยชน์ที่ได้จากการเดิน-วิ่ง
-ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เดินเกินวันละ 1 กิโลเมตร สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ครึ่งหนึ่งของการเป็นโรคอัลไซเมอร์
-ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
-ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ ขา สะโพก
-ช่วยให้ให้หัวใจแข็งแรง ลดความดันโลหิต คนที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรง ต้องเดินบ่อย ๆ เพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้น การเดินทุกวันสามารถลดความเสี่ยงโรค ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เพราะการการเดินหรือวิ่งจะช่วยให้ร่างกายมีการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น
-ช่วยให้ลำไส้ใหญ่แข็งแรง การเดินสามารถลดโอกาสที่ผู้หญิงจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 31% หากเดินวันละ 10-15 นาที จะช่วยในเรื่องระบบการย่อยอาหาร และการขับถ่ายได้ดีขึ้น
-ช่วยให้อารมณ์ดี เวลาที่เรามีอารมณ์ไม่ดี ลองไปเดินเล่นบ้าง การเดินวันละ 30-45 นาที อาทิตย์ละ 4-5 วัน สามารถช่วยให้สดชื่นได้ และยังทำให้มีสติ มีเวลาทบทวนตัวเองมากขึ้น
-ช่วยสร้างให้รูปร่างดี เพียงแค่เดินวันละ 1 ชั่วโมง ก็รักษารูปร่างของเราได้
-ช่วยเสริมสร้างกระดูกและข้อต่อ ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนลงได้ถึง 30%
-เพิ่มความสามารถการทำงานของปอดและหัวใจ เวลาเดินทำให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้ออกซิเจนผ่านกระแสเลือดได้เร็วขึ้น ช่วยกำจัดของเสีย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของปอด และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างรวดเร็ว
-ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง การวิ่งไม่สามารถรักษามะเร็งได้ แต่การออกกำลังกายเป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด แต่การวิ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและภูมิต้านทานให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังได้รับเคมีบำบัด
แต่อย่างไรก็ตามการวิ่งให้ได้สุขภาพที่ดีนั้น เราควรจะคำนึงถึงสภาพร่างกายเป็นอันดับแรก และการเตรียมตัวก่อนที่จะออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าและรองเท้า
เสื้อผ้า ควรเลือกตามสภาพอากาศ โดยทั่วไปเลือกให้เบา ระบายความร้อนและระบายเหงื่อได้ดี ทำให้เสื้อผ้าแห้งเร็วขึ้น จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายไม่อึดอัดระหว่างวิ่ง
รองเท้า ควรเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ และถ้าเสริมด้วยยางรองส้นเท้าด้วยก็จะเยี่ยมเลยและอย่าลืมถุงเท้า เพื่อลดการเสียดสีที่ทำให้นิ้วเท้าพองได้และยังช่วยซัพพอร์ตแรงกดจากลำตัวที่ลงไปยังข้อเท้าและเขาได้เป็นอย่างดี
ก่อนที่จะวิ่งเราควรยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังวิ่ง เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกาย เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อของร่างกายให้ยืดและหดตัวได้ดีก่อนออกตัววิ่ง ละจะไม่เกิดเหตุอันตราย เช่น เป็นตะคริวช่วงต้นขา ข้อเข่าเสื่อม กล้ามเนื้อหรือเอ็นฉีด บาดเจ็บจากขาพลิกระหว่างวิ่ง เป็นต้น
เทคนิคการวิ่งที่ดีเพื่อสุขภาพ
1. ก่อนเริ่มวิ่งแนะนำให้เดินเพื่อวอมร่างกายก่อนประมาณ 20-30 นาที ทำให้ร่างกายมีความพร้อมมากที่สุด
2. การลงเท้า มีความสำคัญมากแนะนำให้ลงส้นเท้าก่อนปลายเท้า
3. การเคลื่อนไหวของแขน จะช่วยในการทรงตัวโดยแขนจะแกว่งไปแนว หน้า-หลัง อย่าเกร็งหรือหนีบแขนไว้แนบลำตัวและกำมือหลวม ๆ
4. การหายใจ หายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางจมูกและปาก ถ้าเราสามารถฝึกการหายใจเข้าอกขยายและหายใจออกแขม่วท้องได้ก็จะดีมาก บางครั้งอาจให้จังหวะกับตัวเอง เช่น 1, 2, 3 : 1, 2, 3 เป็นต้น
การเผาผลาญแคลอรี
การเดินชิล ๆ สบาย ๆ เพียง 30 นาที สามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 120 กิโลแคลอรี เป็นการขยับร่างกายเพื่อให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ดีขึ้น
การเดินเร็ว เพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง สามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 150-300 กิโลแคลอรี การเดินเร็วจะช่วยให้เผาผลาญเร็วขึ้น และยังทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นด้วย
การเดินเร็วและแกว่งแขนเร็ว ๆ เพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง สามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 265-550 กิโลแคลอรี จะช่วยให้เผาผลาญเร็วขึ้น ได้บริหารกล้ามเนื้อส่วนบนเพิ่ม และยังทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นด้วย
การวิ่ง เพียง 1 ชั่วโมง สามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 800-1,000 กิโลแคลอรี จะช่วยให้เผาผลาญ ทำให้ระบบทางเดินหายใจ ระบบการไหลเวียนเลือดมีการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้นการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่แบ่งเวลาให้เหมาะสม เราก็สามารถดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้นแล้ว ถ้าต้องการให้การวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดี เราควรควรทำอย่างสม่ำเสมอ หรือจะวิ่งโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ ก็ได้
ที่สำคัญที่สุดก็คือการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรเลี่ยงอาหารบางมื้อ และต้องดื่มน้ำเปล่าให้เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อช่วยการไหลเวียนเลือดและยังทำให้ผิวพรรณดีขึ้น
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังด้วยการวิ่ง แนะนำให้ค่อย ๆ เพิ่มเวลา เริ่มจากการเดินสู่การวิ่งจะเป็นอันดีต่อสุขภาพระหว่างการปรับตัว
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคไตเสื่อม และโรคหอบหืด หากต้องการวิ่งเพื่อสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อไม่ให้หักโหมมากเกินไปและทำร้ายตัวเอง
สำหรับคนที่เป็นโรคอ้วน ควรเริ่มจากการเลือกรองเท้า, สนามที่นุ่ม ออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป และคอยสังเกตอาการตัวเองหลังการออกกำลังกายด้วยว่ามีอาการปวดตามข้อต่อหรือไม่ หากมีควรหยุดพักแล้วค่อยเริ่มใหม่ก็ยังไม่สายเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง หรือขอคำปรึกษาทางแพทย์ก็ได้ เป็นการเฝ้าระวังและไม่หักโหมร่างกายจนมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม และโรงพยาบาลวิภาวดี
ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร