ทุกคนเคยปวดหลังกันบ้างไหม? แน่นอนว่าใครหลาย ๆ คน เคยพบเจอกับปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว แล้วก็จะหงุดหงิดมาก ๆ เมื่อมีอาการดังกล่าว เพราะส่งผลให้ทำงานได้ลำบากขึ้น ทรมานร่างกายทำให้รู้สึกเจ็บปวดตลอดเวลา จึงต้องระวังตัวอย่างมากเพื่อไม่ให้มีอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ช่วยยึดหลัง การทายาร้อนคลายอาการปวดหลัง หรือแม้กระทั้งการหายาทานด้วยตัวเอง
แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า “อาการปวดหลัง” จะตึงบริเวณกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ “ปวดหลังส่วนล่าง” ใต้ต่อแนวชายโครงลงไปถึงสะโพก จะมีอาการขัดหรือปวดเวลาขยับ รู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งอาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการที่ส่งผลกระทบลงไปที่ขาก็ได้ แต่อาการนั้นเป็นมากกว่า 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน โดยนับจากวันที่ปวดครั้งแรก หรือวันที่เกิดอุบัติเหตุ ระยะเวลารวมถึงช่วงที่อาการดีขึ้นแล้ว แต่กลับเป็นใหม่จะเรียกว่าภาวะ “โรคปวดหลังเรื้อรัง”
โดยจะมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลังและมองถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ตามการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทั้งท่าเดิน ท่านั่ง ท่านอน หรือลักษณะการทำงานของเรา ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการหลัก ๆ ดังนี้
1.ด้านอายุ
2.ขาดการออกกำลังกาย
3.การมีน้ำหนักตัวมาก
4.การยกของด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมหรือการยกของหนักมากจนเกินไป
5.โรคประจำตัว อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากโรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบ มะเร็ง เป็นต้น
6.ภาวะทางด้านจิตใจ
7.มีการดื่มสุรา สูบบุหรี่หรือเสพสารเสพติด
อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป ผู้คนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังบ้างในชีวิตประจำวัน ลักษณะการปวดหลังสามารถเป็นได้ตั้งแต่ การปวดแบบเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน ปวดเสียวแปลบ ซึ่งส่งผลให้เคลื่อนไหวได้ยากและลำบากขึ้นและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
4 สาเหตุหลัก ของอาการปวดหลังเรื้อรังมีอะไรบ้าง
1. ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังหลาย ๆ ชิ้น โดยมีกระดูกอ่อนเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักและเคลื่อนไหว คล้ายกับข้อเข่า กระดูกอ่อนจะมีคุณสมบัติที่ลื่นและลดแรงเสียดทานไปด้วยพร้อม ๆ กัน แต่กระดูกอ่อนนั้นเป็นโครงสร้างที่สามารถสึกบางลงได้ พอการมีการสึกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเกิดความเสื่อมและส่งผลให้เกิด โรคปวดหลังเรื้อรัง
2. กระดูกหลังเสื่อม ทับเส้นประสาท เมื่อกระดูกหลังเสื่อมลงเรื่อย ๆ ร่างกายจะมีการปรับตัว โดยจะมีการงอกของกระดูกสันหลังบางส่วน มีเนื้อเยื่อรอบข้อต่อกระดูกหลังที่หนาตัวขึ้น ซึ่งมีโอกาสกดทับเส้นประสาทบริเวณหลัง แล้วทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือ ปวดร้าวลงสะโพก และ ขาได้
3. ปวดจากหมอนรองกระดูกหลัง ไม่ว่าจะเป็นจากหมอนรองกระดูกหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมก็ตาม โดยหมอนรองกระดูกหลังที่เสื่อมจะทำให้มีสารอักเสบออกมาบริเวณรอบ ๆ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังเรื้อรังได้
4. ปวดจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหนึ่งมัด หรือ มากกว่านั้น อักเสบ แล้วมีอาการปวดร้าวลามไปบริเวณหลัง โดยความสำคัญคือ จุดที่มีการอักเสบจะชัดเจนอยู่ที่กล้ามเนื้อ
การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง จะมีความสำคัญอยู่ที่การหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นจากประวัติการปวด การตรวจร่างกาย ไปจนถึงใช้เครื่องมือช่วยในการวินิจฉัย เช่น อัลตราซาวด์, เอ็กซเรย์ทั่วไป และเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อได้การวินิจฉัยที่แม่นยำแล้ว ถึงจะทำการรักษาให้ตรงจุดได้
โดยปัจจุบันมี “วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัด” หลายวิธีตามแต่สาเหตุและระดับความรุนแรงของโรค เช่น รับประทานยา, ทำกายภาพบำบัด, การปรับลดความเครียด, การปรับพฤติกรรมในการทำงาน ไปจนถึงการฉีดยาด้วยหลักการและวิธีต่าง ๆ
อาการปวดหลังมีสาเหตุและมีความรุนแรงไม่เท่ากัน แต่สามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเราสามารถบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. ลดอาการปวดด้วยการประคบร้อนและเย็น
สำหรับบางคนที่มีอาการปวดหลังในระยะเริ่มต้น การประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง จะช่วยลดแผลอักเสบหรือการบวมได้ด้วยการลดการไหลของเลือดได้ ส่วนการประคบด้วยความร้อน จะช่วยในการบรรเทาการปวดของกล้ามเนื้อเพราะมีการขยายตัวของหลอดเลือด เหมาะสำหรับอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ จะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และอาการปวดจะบรรเทาลง
2. นอนราบแผ่นหลังติดพื้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง
เมื่อมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น มองหาที่นอนที่ไม่นุ่มและไม่แข็งจนเกินไป แต่มีพื้นแบนราบพอที่จะนอนลงไปได้ สบายๆ เช่น เสื่อโยคะ จากนั้นดันแผ่นหลังให้ติดพื้น แขนทั้งสองข้างอยู่แนบกับลำตัว พร้อมเกร็งหน้าท้องค้างไว้ ประมาณ 10 วินาที แล้วพัก จากนั้นทำซ้ำราว 2-3 ครั้ง ช่วยให้แผ่นหลังที่อ่อนล้า ปวดเมื่อย กลับเข้ามาอยู่ในสภาพปกติ จัดเรียงกระดูกและกล้ามเนื้อให้กลับมาเข้าที่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นท่าง่าย ๆ ที่ช่วยลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ดี
3. ท่าโยคะนั่งไขว้ขา บิดเอว
ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดหลังส่วนล่าง เมื่อยล้า ช่วยยืดเยียดกระดูกสันหลัง เปิดหัวไหล่ คอ และสะโพก เพิ่มความยืดหยุ่นบริเวณสะโพกและกระดูกสันหลัง เริ่มจากนั่งขัดสมาธิบนพื้น ยกขาข้างขวาวางพาดทับขาซ้าย ให้ขาข้างซ้ายยังงอเข่านอนลงชิดพื้นอยู่ ขาข้างขวาตั้งเข่าขึ้น เอามือขวาแตะพื้นขวา มือซ้ายแตะท้ายทอย แล้วเอี่ยวตัวไปทางขวาให้สุด ค้างไว้ 3-5 วินาที จากนั้นกลับมาหน้าตรง วางมือซ้ายบนพื้นข้างลำตัวด้านซ้าย มือขวาแตะท้ายทอย บิดเอวไปทางขวา ค้างไว้ 3-5 วินาที จากนั้นจึงสลับขา และสลับมือ บิดเอวทั้ง 2 ข้างเหมือนเดิม เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนหลัง เลือดไหลเวียนในบริเวณหลัง เอว ได้ดียิ่งขึ้น
4. คลายปวดหลังด้วยการนวด
อาการปวดหลัง เอว และขา สามารถคลายความปวดได้ด้วยการนวด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงใช้สองมือกดและบีบเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้ต่อมและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น จะมีวิธีโดยท่าแรกนั่งขัดสมาธิ กำหมัดทั้งสองวางไว้บริเวณบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด ท่าที่สองขยับกำปั้นมาบริเวณที่กลางบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด จากนั้นให้ใช้กำปั้น ทุบหรือคลึงเบา ๆ ไปที่หลังตรงที่มีอาการปวด ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
5. ควบคุมน้ำหนักตัว
น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดหลัง ดังนั้นให้พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี โดยเฉพาะที่หน้าท้อง เพราะทำให้แรงโน้มถ่วงโน้มไปข้างหน้ามากกว่า แต่คนที่ผอมก็มีโอกาสปวดหลังได้เหมือนกัน เพราะการที่ผอมมาก ๆ หรือมีมวลกระดูกต่ำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล , โรงพยาบาลพญาไท , เว็บไซต์ POBPAD , โรงพยาบาลนครธน