หลาย ๆ คน ก็อาจจะมีความเชื่อที่ว่า “เบาหวาน” นั้น เกิดมาจากการรับประทานอาหารที่มีความหวานเพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วนั้น อาการดังกล่าว ก็มีหลายสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองก็ยังสำคัญเช่นเคย
สำหรับโรคเบาหวานนั้น ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกันก่อนว่า โรคนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
เบาหวานชนิดที่ 1
เกิดจากการขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้เลย ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต โดยเบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี
เบาหวานชนิดที่ 2
สำหรับเบาหวานชนิดนี้นั้น มีการพบมากในคนส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดมาจากเซลล์ของร่างกาย มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายเหมือนขาดอินซูลินไประดับหนึ่ง จึงทำให้ร่างกายต้องมีการทดแทนโดยการสร้างอินซูลินออกมามากขึ้น จนทำให้ตับอ่อนทำงานมากขึ้นจนทำงานไม่ไหวนอกจากนี้ตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ยังสร้างอินซูลินได้ไม่มากเท่าคนปกติด้วย จึงทำให้ระดับอินซูลินที่ไม่พอเพียงแก่ความต้องการ
ส่วนสาเหตุของภาวะดื้ออินซูลิน เกิดจากสาเหตุ ได้แก่ พันธุกรรม ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น ถ้าคนในครอบครัว มีประวัติในการเป็นโรคเบาหวาน บวกกับมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากขึ้น
เบาหวานชนิดที่ 3
เบาหวานประเภทนี้ เริ่มที่เกิดจากโรคตับเป็นหลัก โดยสามารถแบ่งได้ คือ เป็นโรคตับอ่อนอักเสบ ตับอ่อนถูกตัด รวมไปถึง โรคที่มีเหล็กสะสมมากเกินไปในตับจนทำให้ตับเสียหาย การรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ การได้รับสารเคมี ความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
เบาหวานชนิดที่ 4
เป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดในผู้ที่ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นเบาหวานได้อีกในอนาคต
ส่วนสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวานนั้น ทางแพทย์หญิงธนพร พุทธานุภาพ จากทางศูนย์โรคเบาหวาน โรงพยาบาลวิมุต ได้ให้ความรู้อธิบายถึงสาเหตุของโรคดังกล่าวในภาพรวม ซึ่งแบ่งเป็นข้อต่างๆ ดังนี้
-พฤติกรรมในการใช้ชีวิต
หากคนในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรเฝ้าระวังตั้งแต่แรก ยิ่งถ้ามีคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวานหลายๆ คน เนื่องจากมีเบาหวานบางชนิดที่ส่งต่อทางพันธุกรรมได้
ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบบ่อย ก็มีส่วนจากพันธุกรรมบ้างแต่มักเกิดร่วมกับการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือการที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งถ้าในครอบครัวมีพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนๆกัน ก็สามารถเป็นเบาหวานกันทั้งบ้านได้
ไม่ใช่แค่ของหวานที่กินแล้วเป็นเบาหวาน
สำหรับสาเหตุนี้นั้น ได้รับการอธิบายว่ามีการบริโภคอาหารทีมีส่วนของน้ำตาลรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ ต่อให้ไม่ชอบของหวานแต่ชอบรับประทานข้าว แป้ง หรือ ขนมปัง ซึ่งเมื่อผ่านระบบการย่อยก็จะกลายเป็นน้ำตาลได้และทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหลังกินได้มาก จึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและเบาหวานได้
ส่วนอาหารไขมันสูงก็ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะในช่องท้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มซอส น้ำจิ้ม น้ำสลัด อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอกบางชนิด พวกนี้ก็มีส่วนทำให้เราได้รับพลังงานเยอะโดยไม่รู้ตัวได้ และก็อาจเป็นสาเหตุของเบาหวานได้เช่นกัน
ไม่ใช่แค่อาหารอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการกินก็มีผลด้วย
การกินอาหารเยอะโดยไม่รู้ตัว บวกกับ การกินไม่ตรงเวลา หรือ การข้ามมื้ออาหาร อาจทำให้เราหิวมากขึ้นและพอไปกินอาหารที่พลังงานสูง ๆ ทดแทน เพราะเรากินไม่ตรงเวลาจนรบกวนการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ลดน้ำตาลซึ่งออกฤทธิ์ดีในช่วงเช้า ส่วนการกินจุบจิบ การกินบุฟเฟต์ พวกนี้ก็ทำให้เราได้รับพลังงานเยอะเกินความจำเป็นได้
กิจวัตรประจำวัน ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
ถ้ามีกิจวัตรที่ขยับน้อย เช่น การ work from home ที่ทำงานนั่งโต๊ะทั้งวัน หรือนอนดูซีรีส์ทั้งวัน แล้วไม่ออกกำลังกาย พวกนี้ก็ทำให้ร่างกายใช้พลังงานและน้ำตาลน้อยลง ส่วนการนอนหลับไม่เป็นเวลา การทำงานเป็นกะ ไม่มีเวลานอนที่ชัดเจนหรือการนอนน้อย พวกนี้ก็มีส่วนต่อการเกิดเบาหวานและโรคอ้วนได้บ้างจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน โดยเฉพาะฮอร์โมนในร่างกายที่ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับเวลาก็อาจจะแปรปรวน และส่งผลต่อการเผาผลาญต่าง ๆ ได้”
สำหรับอาการของโรคเบาหวาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
-มีการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
-กระหายน้ำ หรือมีการหิวบ่อย
-รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด
-ผิวแห้ง หรือเป็นแผลแล้วหายยาก
-มีอาการทั้งตาพร่ามัว หรือมีการชาบริเวณปลายมือปลายเท้า
-มีการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
หากเป็น “เบาหวาน” แล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
-รับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักโภชนาการในปริมาณที่พอดีกับที่ร่างกายต้องการ ไม่รับประทานมากจนเกินไป อาจจะทำการแบ่งมื้ออาหารเป็นมือต่างๆ ตามความเหมาะสมได้
-หลีกเลี่ยงอาหารที่รับประทานแล้วมีระดับน้ำตาลสูงขึ้น เช่น น้ำตาลทราย เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
-ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในแต่ละวันไม่ควรอยู่นิ่ง ๆ
-หมั่นตรวจน้ำตาลด้วยตนเอง เพื่อให้ทราบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง
-ดูแลทำความสะอาดเท้า ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผล
-รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง หรือควรพบแพทย์ตามนัด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลวิมุต และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์