xs
xsm
sm
md
lg

รับมือกับความเครียดอย่างไรดี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณกำลังเผชิญกับความเครียดอยู่หรือเปล่า และนี่คือสาเหตุจากความเครียดที่ควรรู้...

ด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันพบปัญหามากมาย ที่ส่งผลกับสุขภาพร่างกายและจิตใจมิใช่น้อย อ่อนล้า อ่อนเพลียหมดไฟในการทำงานงาน แล้วยังต้องพบปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัวและอื่น ๆ อีกมากมาย จนเกิดเป็นแรงกดดันและสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
 
ความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย แต่เป็นภาวะที่แสดงออกมา เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม สังคม ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตใจรวมถึงสภาพร่างกาย มักจะเกิดขึ้นตามสถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติที่มีต่อบุคคล ส่งผลให้เกิดเป็นความคิดมาก ความกังวลใจ และการแสดงออกทางด้านร่างกาย ทำให้ใช้ชีวิตการทำงาน ความสัมพันธ์ครอบครัวและบุคคลรอบข้าง มีประสิทธิภาพแย่ลง จึงทำให้ได้รับผลความตึงเครียดมากขึ้น
 
เมื่อเกิดความเครียดจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอาจเกิดอาการ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อย ๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ
แล้วนอกจากร่างกายที่เสียสมดุลแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย กลัวอย่างไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคงและควบคุมได้ยากขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงอารมณ์ง่ายขึ้น หรือโรคประสาทบางอย่าง

สาเหตุของความเครียดเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้


1.สภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น มลภาวะ ได้แก่ เสียงดังเกินไป จากเครื่องจักร เครื่องยนต์ อากาศเสียจากควันท่อไอเสีย น้ำเสีย ฝุ่น ละออง ยาฆ่าแมลง การอยู่กันอย่างเบียดเสียด ยัดเยียดเป็นต้น

2.สภาพเศรษฐกิจที่ไม่น่าพอใจ เช่น รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

3.สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การสอบแข่งขันเข้าเรียน

4.การทำงาน เช่น เข้าทำงาน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น

5.นิสัยในการกิน - ดื่ม ที่ส่งเสริมความเครียด เช่น ผู้ที่ดื่มกาแฟบ่อย ๆ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ตลอดจนกินของกินที่มีน้ำตาลมาก ๆ

6.มีสัมพันธ์ขัดแย้งกับคนอื่น ๆ ไม่ราบรื่น หรือทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเป็นปกติวิสัย

7.ความคิดด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น รู้สึกตกต่ำ ด้อยความสามารถกว่าคนอื่น เพราะนำผลงานของตนเองมาเปรียบเทียบกับผลงานที่สูงกว่า จนตัวต้องพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะ

8.ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น

นอกจากนี้ความเครียด ยังอาจเกิดจากอุปนิสัยหรือวิธีการดำเนินชีวิตของคนบางคนที่มีลักษณะต่อไปนี้


1.คนที่ชอบแข่งขันสูง ชอบท้าทาย ชิงดีชิงเด่นเอาชนะ

2.คนที่เข้มงวด เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างไม่มีการผ่อนปรน

3.คนที่พยายามทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน

4.คนที่มีอารมณ์รุนแรงอัดแน่นในใจเป็นประจำ

5.คนที่ใจร้อน จะทำอะไรต้องให้ได้ผลทันทีไม่ชอบรอนาน

การลดความเครียดมักมีหลายวิธี แต่ทุกคนส่วนใหญ่แล้วมีการแก้ไขปัญหาจากปลายเหตุเสียมากกว่าการรักษาจากต้นเหตุ การรักษาจากปลายเหตุที่ทุกคนนิยมกันมากที่สุด นั่นก็คือ “ การใช้ยา ” เช่น การใช้ยาหม่อง ยาดม ยาแก้ปวด ยาลดกรดในกระเพาะ ยากล่อมประสาท 

แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ไขความเครียดที่ต้นเหตุ อาจทำให้ความเครียดนั้นเกิดขึ้นได้อีก วิธีที่ดีที่สุดที่อยากจะแนะนำ มีดังต่อไปนี้




6 วิธีจัดการความเครียดให้อยู่หมัด!

1. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเครียด เช่น งานอดิเรกที่ชอบ ฝึกออกกำลังกาย บริหารร่างกายแบบง่าย ๆ เป็นต้น

2. เปลี่ยนแปลงนิสัยและทัศนคติต่อการดำเนินชีวิต เช่น ลดการแข่งขัน ผ่อนปรน ลดความเข้มงวด ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายให้ร่างกาย

3. หาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการ เช่น รู้ว่าอาหาร เครื่องดื่มบางประเภท ช่วยส่งเสริมและลดความเครียดจากการบริโภค

4. สำรวจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น มองตัวเองในแง่ดี มองผู้อื่นในแง่ดี

5. สำรวจและปรับปรุง สัมพันธภาพต่อคนในครอบครัวและสังคมภายนอก

6. ฝึกผ่อนคลายโดยตรง เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด ท่านั่ง นอน ยืน เดิน การใช้จินตนาการ นึกภาพที่รื่นรมย์

เมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา อยากให้ลองทบทวนดูว่าความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุจากอะไร และเลือกวิธีการที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเครียดขึ้น จากที่กล่าวมา เลือกวิธีการอย่างเหมาะสมให้กับร่างกาย อาจจะต้องใช้เวลาแต่ก็ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน ลองดูแล้วคุณจะรู้ว่าดีขึ้นจริง ๆ


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05142014-1901


ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร


กำลังโหลดความคิดเห็น