xs
xsm
sm
md
lg

"โอมิครอน" (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใกล้เข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ที่เราได้เผชิญหน้าอยู่กับไวรัสโควิด -19 ณ ตอนนี้ ทำให้เสียสมดุลทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก พบเจอสายพันธุ์ไวรัสที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เบตา สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์แกมมาที่ทุกคนคิดว่าเป็นสายพันธุ์ร้ายแรงที่สุดแล้ว

ล่าสุดได้มีการค้นพบไวรัสตัวใหม่ของโควิด-19 ที่มีชื่อว่า “โอมิครอน”ที่นับได้ว่าเป็นสายพันธุ์ตัวใหม่ที่อันตรายที่สุดในตอนนี้
เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่นี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่มีระดับความน่ากังวล โควิดสายพันธุ์​B.1.1.529 หรือ โอมิครอน (Omicron)ถูกรายงานว่าพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ แล้วปัจจุบันนี้ได้ตรวจพบไวรัสโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอนในอย่างน้อย 38 ประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่

เชื้อโอมิครอนอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศล่าสุด ที่ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนภายในประเทศ ขณะที่การระบาดของโอไมครอน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดในแอฟริกาใต้พุ่งทะลุ 3 ล้านราย และจากการให้ข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ตอนนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไวรัสโอมิครอนจะมีการแพร่เชื้ออย่างไร และจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงประสิทธิภาพของการรักษาและวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่

องค์กรอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่ยังมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเตือนว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปจำนวนมากกว่าครึ่ง อาจติดเชื้อจากโอมิครอนได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

อาการคร่าว ๆ ของผู้ติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะมีอาการดังนี้

1. อาจมีอาการไม่สบายแค่ 1-2 วัน
2. จมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี
3. ไม่ค่อยมีไข้
4. รู้สึกล้า และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
5. มีอาการไอเล็กน้อย ระคายคอ

อาการเบื้องต้นยังไม่ชัดเท่าสายพันธุ์อื่น แต่อาการบ่งบอกคร่าว ๆ นั้นก็สามารถจับเป็นกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโอมิครอนได้เช่นกัน
ดังนั้น วิธีป้องกันในตอนนี้คือ “สวมหน้ากากเวลาพูดคุย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด”

โอมิครอนอันตรายแค่ไหน?

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนผ่านเพจ (Yong Poovorawan) ไว้ดังนี้

1. โอมิครอน ติดต่อง่ายจริงหรือไม่

คำตอบคือ ขณะนี้ หลังจากพบสายพันธุ์โอมิครอน ที่แอฟริกาตอนใต้ ไวรัสนี้ได้แพร่กระจาย พบในประเทศต่างๆนอกทวีปแอฟริการวมแล้วเกือบ 50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่าย กว่าสายพันธุ์เดลต้า อย่างแน่นอน โดยมีอำนาจการแพร่กระจายโรคมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป และในอนาคตสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า

2. โอมิครอน หลบหลีกภูมิต้านทานจากการติดเชื้อเดิม หรือวัคซีนได้หรือไม่
คำตอบคือ ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบขณะนี้ มีจำนวนหนึ่งฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม และอีกจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเคยเป็นโรค covid-19 มาก่อน ก็สามารถติดเชื้อได้ แสดงว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันได้แบบไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการติดเชื้อได้ แต่เกือบทั้งหมดมีอาการลดลงหรือ ไม่มีอาการเลย วัคซีนยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้

3. โอมิครอน ความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร

คำตอบคือ ในผู้ป่วยที่พบ นอกทวีปแอฟริกา จำนวนมากกว่าพันราย ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ในทวีปแอฟริกาเอง มีการรายงานเบื้องต้น ในถิ่นระบาดของโรค พบว่าส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และที่เหลือส่วนใหญ่มีอาการน้อย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอ เพราะในระยะเริ่มต้นการติดเชื้อ อาจจะยังมีอาการน้อย การเกิดปอดบวม หรือต้องเข้าโรงพยาบาล จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คำถามข้อนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ ว่ามีความรุนแรงอย่างไร คงต้องรอคำตอบอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็น่าจะรู้เรื่องแต่แนวโน้มความรุนแรงลดลง

ความสำคัญของ โอมิครอน อยู่ที่ “ความรุนแรงของโรค”ว่าเชื้อนี้จะลดความรุนแรงลงหรือไม่ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก และหลบหลีกภูมิต้านทานได้เป็นบางส่วน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่เคยป่วยมาก่อน มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการเมื่อติดเชื้อแล้ว ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน เหมือนกับโรคทางเดินหายใจที่พบอยู่ขณะนี้ และในอนาคตความจำเป็นในการต้องตรวจกรองผู้สัมผัสทั้งหมด ก็ไม่มีความจำเป็นจะเป็นโรคทางเดินหายใจ ที่มักจะเป็นในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อไปก็จะไม่มีอาการ เป็นเพียงเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทาน

โรคไวรัสทางเดินหายใจในผู้ที่แข็งแรง ที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้ จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ จะเป็นปัญหาในกลุ่มเสี่ยงหรือร่างกายไม่แข็งแรง

ในระยะเวลาอีกไม่นานก็คงรู้คำตอบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ขณะนี้ทุกคนตั้งใจรอ

ดังนั้นลองสังเกตตัวเองดูดี ๆ หากคุณมีความรู้สึกมีความเสี่ยงติดเชื้อ ให้รีบเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจทันที และรอผลตรวจจากทางโรงพยาบาลหากพบเชื้อจะมีการติดต่อกลับ แล้วโรงพยาบาลจะได้นำตัวส่งไปรักษาต่อเป็นอันดับถัดไป เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนรอบข้าง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก

โรงพยาบาลศิครินทร์, Facebook ศูนย์ข้อมูล Covid-19, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, เพจ Yong Poovorawan

ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร


กำลังโหลดความคิดเห็น