ด้วยพฤติกรรมในปัจจุบันของหลายคนนั้น เรียกได้ว่าต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ นานา จนอาจจะละเลยและมองข้ามในบางเรื่องไปบ้าง ซึ่งอาจจะไม่รู้เลยว่า พฤติกรรมบางอย่างก็อาจนำมาสู่โรคมะเร็งได้ ฉะนั้นแล้วควรลดหลายพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อที่จะห่างไกลจากโรคดังกล่าว
-กินน้ำตาลมากเกินไป
หลายคนคงเคยได้ยินว่า การกินน้ำตาลที่มากเกินไป มักจะพ่วงมากับโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และแน่นอนว่าก็พ่วงมากับโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์มะเร็งมหาวิทยาลัยเท็กซัส มีการพบว่า ปริมาณน้ำตาลที่สูงในอาหารตะวันตกนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในหนูทดลองทำให้มีการเติบโตของเนื้องอกเพิ่มขึ้น
-การดื่มเครื่องดื่มร้อน
การศึกษาเกี่ยวกับอุณหภูมิของเครื่องดื่ม พบว่า เครื่องดื่มร้อน ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร โดยมาจากทฤษฎีคืออุณหภูมิสูงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหลอดอาหารซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารก่อมะเร็งในหลอดอาหาร หากคุณมีการดื่มกาแฟในตอนเช้าและไม่อยากดื่มเครื่องดื่มแบบอื่น ๆ ลองลดปริมาณการกินลงก็สามารถช่วยได้นะ
-รับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป
สำหรับเนื้อสัตว์แปรรูปในความหมายดังกล่าวนั้น ก็คือ เนื้อสัตว์ที่ถูกเก็บรักษาด้วยความเค็มหรือรมควันเพื่อให้มีอายุนานขึ้น โดยมีการศึกษาที่พบว่า เนื้อสัตว์เหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ที่เมื่อรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 18 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
-การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
อันที่จริง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่การที่ดื่มเข้าไปมาก ๆ ก็ทำให้ส่งผลเสียในด้านความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อแอลกอฮอล์ถูกทำลายลงในระบบทางเดินอาหารมันจะผลิตสารเคมีที่เป็นพิษ ที่มีชื่อว่า acetaldehyde แถมยังก่อให้เกิดรูปแบบของออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา ซึ่งสามารถทำลายดีเอ็นเอ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังไปลดความสามารถในการสลายตัวและดูดซับสารอาหารของร่างกายและยังสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้
-ทำงานกะกลางคืน
ถึงแม้ว่า ‘การทำงานกะกลางคืน’ กับโรคมะเร็งนั้น อาจจะยังไม่มีผลวิจัยที่แน่นอน แต่ก็มีการศึกษาในบางส่วน ก็มีการพบว่าการทำงานกะกลางคืนจะทำให้เกิดการหยุดทำงานของ circadian และยังมีเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรวมถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันและการอักเสบจะลดลงอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าคุณจะสามารถเปลี่ยนตารางชีวิตได้ แต่การนอนหลับให้เพียงพอในเวลาที่พอเหมาะก็จะเป็นผลดีกับสุขภาพมากกว่า
-ไม่ออกกำลังกาย
จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติอเมริกา พบว่า การไม่ออกกำลังกาย ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน และมะเร็ง เพราะการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้มีออกซิเจนและการไหลเวียนของเลือดไปสู่กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งการออกกำลังกาย ก็ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเซลล์และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
-น้ำหนักตัวมากเกินไป
โรคอ้วนนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งหลอดอาหาร ตับอ่อน ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เต้านม ไต และมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยมีการพบว่าในสตรีที่มีน้ำหนักเกินโดยเฉพาะเซลล์ไขมันสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านมได้
-มีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ปาก
โรค human papillomavirus หรือที่เรียกว่า HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีการศึกษาพบว่า 7% ของชาวอเมริกัน มีเชื้อ HPV ในช่องปาก แม้ว่ามีเพียง 1% ที่จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งในบริเวณคอและลำคอหรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยส่วนปาก ขณะเดียวกัน HPV ยังทำให้เซลล์ผิดปกติและอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งหากไม่ได้รับการรักษา ยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในช่องปาก แต่การใช้ถุงยางอนามัยและสุขภาพฟันที่ดีจะลดโอกาสในการเพิ่มขึ้นของเชื้อ
- รับประทานอาหารเสริมมากเกินไป
บางทีการกินอาหารเสริม อาจไม่ได้ส่งผลดีให้กับร่างกายเสมอไป เพราะมีการศึกษาพบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มากเกินไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อมะเร็งเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้มีการแนะนำว่าอาหารเสริมควรใช้เพื่อเติมในสิ่งที่ร่าางกายขาดแคลนและทำให้เกิดสมดุลในร่างกาย
คำแนะนำการป้องกันการเกิดมะเร็ง
-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมตามดัชนีมวลกาย (BMI) 18.5-24.9 และเส้นรอบเอว (ผู้ชาย ให้น้อยกว่า 90 ส่วนผู้หญิง ให้น้อยกว่า 80)
-ไม่ควรมีพฤติกรรมนั่งเฉย เช่น การนั่งดูทีวี หรือจอมือถือ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 30 นาที/ต่อ เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ทำงานบ้าน ทำสวน ว่ายน้ำ เต้น เป็นต้น
-ควรเพิ่มปริมาณการรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่ว โดยควรรับประทานใยอาหารให้ได้วันละ 30 กรัม และรับประทานผัก ผลไม้ ไม่น้อยกว่า 400 กรัม/ต่อมื้อ
-ควรรับประทานผักผลไม้ให้ครบ 5 สีในแต่ละวัน (แดง ส้ม เขียว ม่วง ขาว) ไม่ควรรับประทานผักที่มีแป้งสูงมาก เช่น เผือก มัน มากเกินไป
-ทำการจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารแปรรูปต่าง ๆ ที่มีไขมัน น้ำตาลสูง เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ น้ำอัดลม น้ำหวานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น
-จำกัดปริมาณการรับประทานเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ แฮม ซาลามี เบคอน ไส้กรอก เป็นต้น เนื่องจากการรับประทานเนื้อแดงปริมาณมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
-จำกัดการดื่มน้ำหวาน ควรดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีการเติมน้ำตาล (ชาหรือกาแฟ) เพราะทำให้ได้พลังงานเกินความต้องการของร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ จากหลักฐานงานวิจัย กาแฟอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
-การป้องกันการเกิดมะเร็งที่ดีที่สุด คือ การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น ช่องปาก หลอดลม หลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ กระเพาะอาหารได้
-ทั้งนี้ ไม่ควรใช้อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับการป้องกันการเกิดมะเร็ง ควรได้รับสารอาหารตามความต้องการจากอาหารเท่านั้น เพราะผลจากงานวิจัยพบว่า การรับประทานเบต้าเคโรทนีในปริมาณที่สูง จะทำใหเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้ และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
-สำหรับผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเพราะมีส่วนช่วยในการเกิดมะเร็งเต้านมได้น้อยลง
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : thehealthy.com และ โรงพยาบาลสุขุมวิท