เชื่อได้เลยว่าหลาย ๆ คนกำลังหาวิธีในการลดน้ำหนักในรูปแบบแตกต่างกันออกไป บางคนก็ออกกำลังกาย หรือบางคนก็เลือกการคุมอาหาร แต่มีวิธีหนึ่งที่หลายคนเลือกใช้ นั่นคือ การทำ IF นั่นเอง หลายคนอาจจะสงสัยว่า การลดน้ำหนักในลักษณะนี้คืออะไร มาทราบข้อมูลนี้ไปด้วยกัน
การทำ Intermittent Fasting (IF) คืออะไร นั่นก็คือการลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่งโดยมีการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร โดยมีหลากหลายขั้นตอนวิธีในการปฏิบัติดังกล่าวนี้ แต่วิธีที่ถือได้ว่า ได้รับความนิยมก็คือจำกัดเวลารับประทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หากเราเริ่มรับประทานอาหารตั้งแต่เวลา 06.00 น. เราก็รับประทานได้ไปจนถึง 14.00 น. หรือหากเราเริ่มรับประทานอาหารมื้อแรกตอน 10.30 น. เราจะรับประทานอาหารไปได้ถึง 18.30 น. เป็นต้น ซึ่งหลังจาก 8 ชั่วโมงเป็นต้นไป จะถือว่าเป็นช่วงในการงดอาหาร จะดื่มได้เพียงน้ำเปล่า หรือกาแฟ ชา ที่ไม่ใส่น้ำตาล (แต่งดเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในช่วงอดอาหาร เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากน้ำตาลได้)
แต่วิธีการนี้ หลายคนอาจทำแล้วประสบผลสำเร็จบ้าง บางคนน้ำหนักไม่ลดบ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยดังนี้
-อดมากเกินไป
ในช่วงที่รับประทานได้ 8 ชั่วโมง การควบคุมอาหารที่มากจนเกินไป อาจจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายจะเข้าสู่สภาวะจำศีล ลดการเผาผลาญลง และเก็บสะสมพลังงานมากขึ้นเป็นไขมัน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยมี โปรตีน ไขมันดี คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และผักผลไม้ที่มีวิตามิน เกลือแร่ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ในช่วงรับประทานได้ควรรับประทานของที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป
- รับประทานมากเกินไป
อย่างในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารได้นั้น อาจจะมีการรับประทานอาหารเผื่อในช่วงที่อด เช่น รับประทานข้าว 2-3 จาน เพื่อเวลาอดอาหารจะได้ไม่รู้สึกหิว ในกลุ่มนี้ ถือว่าความเข้าใจผิดเพราะในช่วงอดอาหารยังไงก็ต้องมีความหิวบ้างเล็กน้อย หากจะลดความอ้วนโดยที่ไม่มีความรู้สึกหิวเลย นั่นก็คงไม่ใช่การลดความอ้วนอย่างแน่นอน โดยหลักคิดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจำกัดเวลารับประทานได้แค่ 8 ชั่วโมง ก็สามารถรับประทานได้ทั้ง อาหารเช้า และกลางวัน 1 จานต่อมื้อ ชนิดอาหารปกติ เป็นอาหารทั่วไป โดยอาจจะมีผลไม้บ้างหลังอาหาร
-ต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด
เนื่องจากการทำ IF นั้น หากยังมีการรับประทานหวานมา อาจจะทำให้เกิดอาการติดหวาน หรือ Sugar Addict ได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะทำให้ในช่วงอดอาหารไม่สามารถอดได้ อาการก็คือ จะหิวมาก อ่อนเพลียเหมือนขาดพลังงาน แล้วก็จะจบด้วยการกิน แล้วอาจจะกินเยอะกว่าปกติด้วย โดยอาการอยากน้ำตาลจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ก็จะเป็นปกติในช่วงอดอาหาร โดยไม่รู้สึกหิวแต่อย่างใด ซึ่งคนส่วนมากไม่สามารถทำ IF ได้เนื่องจากอาการ Sugar Addict ในช่วงอดอาหาร
-นอนดึก
ในคนกลุ่มที่เข้านอนดึกนั้น ก็มีความเสี่ยงที่จะมีความอ้วนง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากระบบฮอร์โมนที่ซ่อมแซมร่างกาย และระบบความอิ่มในร่างกายจะรวนทำให้คนนอนดึกไม่สามารถอดอาหารได้ต้องกินอาหารหวาน และนำไปสู่ความอ้วน ซึ่งเวลาเข้านอนปกติไม่ควรเกิน 22.00 น.
-ไม่ออกกำลังกาย
เนื่องจากในการลดความอ้วนไม่ใช่แค่การควบคุมแคลอรี แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบการเผาผลาญที่ถาวรขึ้นด้วย ฉะนั้น ในส่วนนี้คือการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการโยโย่ขึ้นภายหลัง
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช