xs
xsm
sm
md
lg

“ยาแคปซูล” กินอย่างไรถึงจะถูกต้อง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลาย ๆ คน เวลาที่กินยาที่เป็นแคปซูล อาจะมีวิธีการกินที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็กินไปทั้งเม็ดไปแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก หรือบางคนก็จะต้องมาแกะแคปซูลแล้วนำยามาละลายน้ำกิน สรุปแล้วการกินแบบไหนถูกต้องกันแน่ มาดูข้อมูลกัน

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับยาแคปซูลนั้น ก็มีความแตกต่างกัน โดยจะแบ่งได้ดังนี้

-แคปซูลชนิดที่ไม่มีฟังก์ชั่น หรือ Non-functional capsules มีเพื่อกลบรสชาติหรือกลิ่น เช่น ยาที่มีรสขม หรือมีกลิ่นแรง

-แคปซูลชนิดที่มีฟังก์ชั่น หรือ Functional capsules มีเพื่อให้มีการปลดปล่อยตัวยาทีละน้อยแบบต่อเนื่องยาวนานเพื่อลดความถี่และเพิ่มสะดวกในการรับประทานยามักมีคำต่อท้ายชื่อทางการค้าต่าง ๆ เช่น SR (sustained-release), XR (extended-release), MR (modified-release), PL (prolonged-release), CR (controlled-release) เป็นต้น โดยแบ่งเป็น

แคปซูลธรรมดาที่บรรจุยาเม็ดเล็ก ๆ ที่เคลือบด้วยสารควบคุมการปลดปล่อยตัวยาอย่างช้า ๆ จะสามารถแกะแคปซูลประเภทนี้ได้ แต่ห้ามบดเม็ดยาเล็ก ๆ (pellets) ข้างใน เพราะจะทำให้ได้รับยาขนาดสูงจนเกิดพิษได้

ส่วนแคปซูลประเภทที่ควบคุมการปลดปล่อยโดยการเคลือบสารบนเปลือกแคปซูลจะไม่สามารถแกะเปลือกแคปซูลประเภทนี้ได้ เช่น แบบ DilantinKapseal เนื่องจากสูญเสียการควบคุมการปลดปล่อยตัวยา

นอกจากนี้ยาบางชนิดถูกทำลายได้ง่ายจากกรดในกระเพาะอาหาร จึงมีการเคลือบสารบางอย่างเพื่อป้องกันยาถูกทำลาย หรือมีการเคลือบบนเม็ดยาเล็ก ๆ แล้วบรรจุในแคปซูลหรือเคลือบบนเปลือกแคปซูลเลยก็ได้เช่นกัน

หากมีการถามว่า เราควรจะแกะแคปซูลยาแล้วรับประทานได้หรือไม่ ก็ขอแนะนำว่า ไม่แนะนำให้กินยาในลักษณะนี้ เพราะเปลือกแคปซูลมีประโยชน์ที่จะช่วยกลบรสชาติหรือกลิ่นของตัวยา หรือช่วยควบคุมการปลดปล่อยของตัวยา ดังนั้น การแกะแคปซูลยา จะส่งผลเสียอาจทำให้ตัวยาสูญหายในระหว่างเตรียมยาได้ และจะทำให้ได้รับตัวยาไม่เพียงพอ แถมประสิทธิภาพในการรักษาลดลง

ขณะเดียวกัน ในการแกะแคปซูลออก ก็อาจเกิดอันตราย เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ทำลายเซลล์ปกติ แถมยังทำให้สูญเสียการควบคุมการปลดปล่อยตัวยา ทำให้ได้รับยาขนาดสูงจนเกิดพิษได้ ฉะนั้น ควรแนะนำให้กินยาทั้งแคปซูล เป็นข้อแนะนำที่ดีที่สุด เว้นแต่ ผู้ที่มีข้อจำกัดในการใช้ ซึ่งหากมีความจำเป็นไม่สามารถกลืนแคปซูลยาได้ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนแกะแบ่งเปลือกแคปซูล
 
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


กำลังโหลดความคิดเห็น