แม้ว่าดูเผิน ๆ แล้ว “อาการเส้นเลือดขอด” อาจจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก เป็นแล้วสามารถหายได้ แต่หากปล่อยไว้ ก็อาจจะส่งผลเสียจนกลายเป็นแผลหลอดเลือดดำได้ ฉะนั้นแล้ว ริ้วรอยนี้ถ้าไม่รีบรักษา ก็อาจจะเป็นผลเสียในภายภาคหน้าก็เป็นได้
สำหรับอาการเส้นเลือดขอดนั้น จุดเริ่มก็มาจากร่างกายของคน มีหลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง โดยแบ่งออกเป็น หลอดเลือดดำชั้นตื้น และหลอดเลือดดำส่วนลึก และถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบหลอดเลือดดำเพื่อส่งเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจ แต่หากหลอดเลือดดำที่ขาเกิดความผิดปกติ จะส่งผลให้เลือดไม่สามารถถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้ทั้งหมด หรือเกิดการย้อนกลับของเลือดดำจากวาล์วรั่วชำรุด ทำให้เลือดดำค้างในหลอดเลือดแล้วเกิดการขยายตัวกลายเป็น “อาการเส้นเลือดขอด” ในที่สุด
หากถามว่าความรุนแรงของเส้นเลือดขอดเป็นอย่างไร ก็ต้องเริ่มไล่ไปตั้งแต่ การเริ่มเห็นเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ จากนั้นก็เริ่มมีการปวดตามขา เท้า หรือมีอาการขาบวม หรือในบางครั้ง ก็จะมีการเห็นหลอดเลือดโป่งพองที่มีลักษณะคดเคี้ยวคล้ายกับตัวหนอน หรือ สีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น ผิวหนังแห้งแข็ง ไปจนถึงการอักเสบเป็นแผลเลย
อาการบอกโรค
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเส้นเลือดขอดนั้น มักไม่แสดงอาการให้เห็น ยกเว้นจากการสังเกตความผิดปกติ ได้แก่
-มีการมองเห็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา
-ปรากฏเส้นเลือดปรากฏสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา
-เกิดอาการเมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ หนักขา
-มีการบวม ร้อนขาส่วนล่าง
-ปวดเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
-เลือดออกจากเส้นเลือดขอด
-ผิวหนังอักเสบหรือมีแผลพุพองบริเวณผิวหนังใกล้ข้อเท้า
ปัจจัยที่ก่อให้เกิด “อาการเส้นเลือดขอด”
-อายุ
-ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือ อ้วน
-อาชีพที่มีการยืนหรือการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน
-ผู้หญิง มีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ปริมาณของเลือดสูงขึ้น ทำให้เกิดการตึงของหลอดเลือด รวมถึงระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผนังกล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดอาจทำงานบกพร่อง
-อื่น ๆ เช่น หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ เคยมีลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
การรักษาเส้นเลือดขอด
สำหรับการวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะพิจารณาตามความเหมาะสม ได้แก่
-การรักษาแบบประคับประคอง
ถ้าในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษที่มีระดับความแน่น แตกต่างกันไล่ระดับจากเท้าที่แน่นที่สุดและลดหลั่นลงเมื่อสูงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี
-การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด
ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก โดยใช้เวลา 15 – 30 นาทีที่แผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
-การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง
ส่วนการรักษาในวิธีนี้นั้ย จะใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป โดยจะต้องมีการประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนนัดมาทำ งดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนทำ และจะใช้ระยะเวลาในห้องผ่าตัดเล็กประมาณ 30 – 45 นาที หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร หลังทำการรักษาแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 – 2 สัปดาห์
-การผ่าตัด
ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ต้องมีการประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนนัดมาผ่าตัด งดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 – 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากเป็น “อาการเส้นเลือดขอด” แล้วนั้น ก็ต้องมีการป้องกันภาวะดังกล่าว ด้วยวิธีต่อไปนี้ ได้แก่
-ออกกำลังกาย โดยเฉพาะการเดิน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาดีขึ้น
-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
-หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ ให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
-ทำการบริหารข้อเท้าขณะนั่ง โดยเหยียดปลายเท้าและกระดกปลายเท้าสลับกันตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ