แม้ว่า “ใบกระท่อม” จะมีการคลี่คลายในประเทศไทยไปพอสมควรแล้วก็ตามที แต่ในขณะเดียวกันการกินพืชชนิดดังกล่าวนั้น ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของผลของการกินอยู่พอสมควร ฉะนั้น หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายก็เป็นได้
สำหรับข้อมูลดังกล่าวนี้นั้น ทางอาจารย์ แพทย์หญิง สุทธิมน ธรรมเตโช จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีการระบุว่า กระท่อมเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นของประเทศไทย แต่เดิมนิยมบริโภคโดยเคี้ยวใบสด นำไปตำน้ำพริก ต้มเป็นน้ำชา และนำมาใช้เพื่อการสันทนาการต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อม เช่น ไมทราใจนีน และเซเว่น-ไฮดรอกไซไมทราใจนิน จะช่วยทำให้ตื่นตัว แก้ปวด และคลายกล้ามเนื้อ
แต่ในปัจจุบัน ใบกระท่อมนั้น กลับมีความนิยมและวิธีการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น นำไป ทอด, ย่างไฟ หรือ ทำการผัดรวมกับอาหารอื่น ๆ ซึ่งการทำการดังกล่าว ก็จะทำให้สารออกฤทธิ์ในใบกระท่อมถูกทำลายด้วยอุณหภูมิ หรือสภาวะความเป็นกรด หรือ ความเปรี้ยว แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงปริมาณของสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อมที่ผ่านกรรมวิธี ดังกล่าวต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม การบริโภคใบกระท่อมที่มากเกินขนาดอาจทำให้เกิดผลเสียคร่าว ๆ ได้ ดังนี้
-คลื่นไส้ อาเจียน
-ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
-กระสับกระส่าย ชัก
-ทำให้เกิดอาการเซื่องซึม หรือกดการหายใจ
-ทำให้เสพติด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
-อาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่
ขณะเดียวกัน นอกจากอาการดังกล่าวที่ว่ามาแล้ว ก็ต้องสังเกตอาการดังต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมีการกินที่มากเกินไป ก็ควรหยุดเช่นเดียวกัน ดังนี้
-ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ หลังจากเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5 – 10 นาที จะเริ่มมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว ทำให้หัวใจทำงานสูบฉีดเลือดผิดปกติ
-ผิวหนังแดง เพราะร่างกายจะนำเลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น
-อาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่
-คนที่เป็นโรคหัวใจห้ามทานกระท่อม เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะทำให้ไม่เหนื่อยจนเป็นสาเหตุให้หัวใจหยุดทำงานโดยไม่รู้ตัว
-อาจจะทำให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งทาง รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ จาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า กระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร ฉะนั้นจึงไม่ควรกินเกินวันละ 5 ใบ หรือ ใช้ปริมาณมากเกินกว่า 10 – 25 กรัม หากกินใบกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการหลอน, เคลิ้มฝัน, มึนงง, เหงื่อออก, ทนต่อความหนาวไม่ได้ และเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์