xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “โรคแพนิก” ภาวะตื่นตระหนกที่ไม่ควรชะล่าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่ทุกคนต้องเผชิญชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ส่งผลต่อความวิตกกังวลมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน แต่ถ้ามีความกังวลที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิด “อาการแพนิก” ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตได้

สำหรับอาการแพนิก หรือ Panic Disorder ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาการตื่นตระหนกตกใจที่เกิดขึ้นถี่มากกว่าเดิม ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็คือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เกิดมาจากการทำงานผิดปกติ โรคที่เกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ส่วน จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม

ขณะเดียวกันนั้น อาการแพนิก ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และผู้ป่วยโรคแพนิกมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิกก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวและไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ก แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัย และอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิก

นอกจากนี้แล้วสาเหตุของโรคแพนิก อาจเกิดได้จากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากเกินไปในยุคปัจจุบัน ผู้เผชิญสภาวะกดดัน การทำงานที่มีความเครียดสะสม การทำงานหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงพันธุกรรม และผู้มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เป็นต้น

สำหรับลักษณะอาการของโรคแพนิก อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้

-ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก หรือ มีการเหงื่อออกมาก หนาว ๆ ร้อน ๆ

-มีการหายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม

-บางครั้งก็มีอาการวิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม

-มีความรู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย

-หรือในบางครั้ง ก็มีการควบคุมตัวเอง หรือมีความรู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้

ซึ่งถ้ามีลักษณะอาการแพนิกที่ว่ามาดังกล่าวนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าอาการแพนิกนั้น จะไม่เป็นอันตรายจนถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้น ก็จะไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

วิธีการป้องกันและรักษา หากมี ‘อาการแพนิก’

สำหรับการรักษาอาการแพนิกนั้น สามารถรักษาได้ทั้งการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ, การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือ ทำการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด ซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้

แต่ทางผู้ป่วยของโรคนี้ ก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม

ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ควรให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม หากอยากรักษาแบบเบื้องต้นนั้น ก็ควรเริ่มต้นดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ ด้วยการมีพฤติกรรมเหล่านี้

-ลดการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
-กินนอนให้เพียงพอและเป็นเวลา
-งดการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :

โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/2Xd83Bl

พญ. พรทิพย์ ศรีโสภิต โรงพยาบาลพระราม 9 
https://bit.ly/3DE2qLZ



กำลังโหลดความคิดเห็น