ด้วยหน้าที่การงานของบางคนอาจจะรัดตัวมากเกินไป จนทำให้ละเลยที่จะทำธุระส่วนตัว หรือขับถ่ายเบาเล็กน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่า การทำเช่นนั้นอาจส่งผลให้ร่างกายมีความเสี่ยงกับ “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ” ได้ ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายก็เป็นได้
สำหรับภาวะของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้น มักเกิดมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดความผิดปกติในบริเวณดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดกับทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้ง่าย ต่างจากผู้ชายที่มีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนักมากกว่า โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีน้อยกว่า
โดยการเกิด “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ” สามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
1.เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
เป็นสาเหตุหลักที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล ซึ่งพบได้มากถึง 75-95% และเชื้อแบคทีเรียเคล็บซิลลา ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่มากในลำไส้ และบริเวณรอบๆทวารหนัก โดยเชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ การเช็ดก้นในลักษณะจากด้านหลังมาทางด้านหน้า การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด รวมไปถึงการสวนปัสสาวะ โดยในผู้ชายจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะยาวและอยู่ห่างจากทวารหนักมาก
ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้มักจะลักลอบเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะโดยไม่รู้ตัว โดยถ้ามีการขับถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด ร่างกายก็จะสามารถขับเอาเชื้อโรคนั้นออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ แต่ถ้าหากมีการกลั้นปัสสาวะนานๆ เชื้อโรคก็จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นร่วมกับมีแรงดันในกระเพาะปัสสาวะที่มากขึ้น ทำให้เยื่อบุผิวยึดตัวจนเชื้อโรคฝังตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้
2.ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-การใช้ยา
โดยส่วนประกอบในการยาบางชนิดอาจมีผลต่อการอักเสบหรือระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เช่น ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ และยาไอฟอสฟามายด์
-การฉายรังสีบริเวณช่องเชิงกราน
สำหรับการทำการณ์ดังกล่าวนั้น จะทำให้เนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะบริเวณที่โดนฉายรังสีเกิดการอักเสบขึ้นมาได้
-สิ่งแปลกปลอมภายนอก
เช่นการใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบตามมา
-สารเคมี
ส่วนในเรื่องของสาเคมีนั้น บางคนอาจมีความไวหรือระคายเคืองต่อสารเคมีในผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
-ปัญหาสุขภาพ
อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว เช่นนิ่ว, ต่อมลูกหมากโต หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
-กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน
สำหรับกรณีนี้นั้น จะมีสาเหตุมาจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ
สัญญาณเตือนที่ควรเอะใจกับ “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ”
-ปัสสาวะบ่อย กะปริดกระปรอย ครั้งละน้อย ๆ มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด
-รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ร้อนขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
-ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ หรือ อาจปัสสาวะมีเลือดปน
-มักไม่มีไข้ เว้นแต่ถ้ามีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีปวดเอวร่วมด้วย
-ถ้าเกิดกรณีในเด็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย
-ในผู้สูงอายุบางคน จะไม่มีอาการทางปัสสาวะ แต่จะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดอาการที่ว่ามา ควรแนะนำให้รีบรักษาโดยเร็ว ซึ่งแนวทางในการรักษานั้น ควรทำดังนี้
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
-ถ้ารักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไตรเมโทพริม หรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน ซึ่งระยะเวลาในการทานยาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และชนิดของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ
-รักษาโดยให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด, ยาคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
-สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจสั่งจ่ายครีมสำหรับใช้ทาช่องคลอด ซึ่งเป็นฮอร์โมนทดแทน เนื่องจากในวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะของร่างกาย ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล จึงไวต่อการติดเชื้อได้ง่ายและกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ
-ควรมีการดื่มน้ำมาก ๆ หรือ วางกระเป๋าน้ำร้อนระหว่างช่วงท้องและเหนือขาหนีบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่มีอาการ
-ถ้าหากว่ามีการติดเชื้อซ้ำ อาจต้องเข้ารับการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มเติม และใช้ยาปฏิชีวนะนานขึ้นกว่าเดิม
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากสาเหตุอื่น
-ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ
-รักษาแบบบรรเทาอาการของผู้ป่วย เช่น สวนล้างกระเพาะปัสสาวะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท