ยามที่อากาศเปลี่ยนแปลงในคราใดก็ตามที ในเรื่องของสุขภาพร่างกายนั้น ก็ย่อมหนีไม่พ้นกับเรื่องของ “โรคภูมิแพ้อากาศ” อยู่เสมอ ๆ อาจจะเป็นเพราะว่า การเปลี่ยนที่ไม่ทันตั้งตัวนั้น มักจะไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าอยู่เสมอ ๆ แล้วเพราะอะไรถึงได้เกิดภาวะดังกล่าว เรามาทราบถึงข้อมูลนี้กัน
โดย “โรคภูมิแพ้อากาศ” นั้น มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้’ เนื่องด้วยร่างกายมีการใช้จมูกเพื่อทำการกรองฝุ่นและสิ่งแปลกปลอม รวมถึงยังช่วยปรับอุณหภูมิอากาศก่อนเข้าสู่หลอดลมและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อเยื่อบุโพรงจมูกได้ทำการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้บวกกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เลยทำให้เกิดการระคายเคืองส่งผลให้โพรงจมูกอักเสบ จนทำให้มีอาการน้ำมูกไหล จาม และ คัดจมูก นั่นเอง
ซึ่งผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวนี้นั้น จะมีการตอบสนองต่อกลิ่นหรืออากาศที่หายใจเข้าไปคิ่นข้างสูงกว่าคนปกติ โดยเฉพาะกับเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ควัน และ ขนสัตว์ ซึ่งโรคภูมิแพ้แบบนี้จะเป็นการพบที่บ่อยที่สุด
สำหรับอาการของ “ภูมิแพ้อากาศ” ที่พบได้บ่อยนั้น ได้แก มีการน้ำมูกไหล โดยน้ำมูกจะมีสีใส, จาม, คันในจมูก, คัดจมูก หรือ เสียงขึ้นจมูก ซึ่งหากมีอาการมาก อาจจะมีการหายใจติดขัดทางจมูกจนต้องอ้าปากหายใจ หรือในบางครั้ง ก็อาจจะมีเสมหะไหลลงคอ มีอาการกระแอมบ่อยเพราะมีเสมหะติดคอ แต่จะไม่มีอาการไข้ร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาการคันตา จนในบางครั้ง ก็มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ โดยมักจะเมีอาการในช่วงเช้าและกลางคืน
ขณะเดียวกัน ในบางรายก็อาจจะมีอาการไล่ไปตั้งแต่ ปวดศีรษะ, หูอื้อ, เจ็บหูด้านหลัง หรือมีความรู้สึกมึนและอ่อนเพลียหลังตื่นนอน รวมไปถึงมีภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น อาการไซนัสอักเสบ มีการนอนกรน และหูชั้นกลางอักเสบ
สำหรับการรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้น หากเป็นสาเหตุเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และทำการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมไปถึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค โดยแพทย์มีแนวทางการรักษาหลากหลายวิธี เช่น
-รับประทานยา
การทานยานั้น ก็เป็นเพื่อการลดอาการแพ้ ลดน้ำมูก รวมทั้งยาที่ลดอาการคัดจมูก ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา หรือการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น
-ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
ส่วนการพ่นยา ก็เพื่อช่วยลดการอักเสบของโพรงจมูก ทั้งนี้ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งยาเท่านั้น
-ฉีดวัคซีนภูมิแพ้
ด้านการฉีดวัคซีน หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโดยแพทย์ฉีดสารก่อภูมิแพ้ ในการรักษาแต่ละครั้งนั้น จะทำการฉีดเข้าสู่ร่างกาย ด้วยครั้งละน้อย ๆ หลาย ๆ ครั้งโดยจะมีการเพิ่มขนาดขึ้นตามลำดับจนกว่าอาการแพ้ของผู้ป่วยจะทุเลาลง ส่วนใหญ่แนะนำในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช