xs
xsm
sm
md
lg

“โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” ภัยเงียบของผิวหนังมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ปรากฏข่าวอดีตนักร้องท่านหนึ่ง กำลังประสบเหตุเป็นโรคที่เกี่ยวภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะมีข้อสงสัยเหมือนกันว่า โรคนี้มีที่มาที่ไปยังไงบ้าง เพื่อคลายความสงสัยนี้ เราไปรับทราบถึง ‘โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง’ ไปพร้อมกัน

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือมีหลากหลายชื่อ เช่น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน เป็นต้น มีชื่อในทางการแพทย์ว่า Atopic dermatitis โดยโรคนี้จะมีการพบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติในการแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หรือ หอบหืด และ เป็นเยื่อบุตาอักเสบ โดยเฉพาะเวลาที่รอบตัวเปลี่ยนแปลงคนในครอบครัวของผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรค เช่น โรคภูมิแพ้ อย่าง แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืด ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือ ภาวะเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวของผู้ป่วยได้โดยไม่เกิดอาการ

ขณะเดียวกัน สภาวะภายนอกที่เกิดมาจากอากาศที่อาจจะมีทั้งร้อนหรือเย็นเกินไป หรือ สิ่งที่เกิดจากสารเคมี และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้แก่ แมลง เชื้อโรค เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยที่เอื้อได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับอาการของโรคนั้น จะแบ่งไปตามวัยต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.วัยทารก จะมีการพบในช่วงระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยอาการแรกเริ่มมักจะเริ่มมีการพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆอยู่ในผื่นแดงนั้น ที่แก้มถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองเยิ่มหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกคืบ ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้

2.วัยเด็ก ช่วงอายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้งๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอกหรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้

3.วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากๆผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย


ด้านหลักในการดูแลโรคดังกล่าวนี้นั้น มีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น

- ควรเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง
- ควรใช้สบู่อ่อนๆ ในการดูแล ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเกินไป
- สำหรับผงซักฟอกนั้น ควรเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยควรซักล้างออกให้หมด
- เลือกใช้เสื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมากๆ
- ลดความเครียด ความวิตกกังวล

2. ไม่ควรเกาในบริเวณที่เป็น เนื่องจากการเกาอาจจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบเห่อมากขึ้น อาจรับประทานยาต้านฮีสตามีนเพื่อช่วยลดอาการคัน

3. ควรป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น และควรทาหลังอาบน้ำทันที แต่ถ้าผิวหนังยังแห้งมากควรทาเพิ่ม สามารถทาได้วันละหลายครั้ง

4. ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง

5. กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย

6. การรักษาอื่นๆ อย่างเช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมากและเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถรักษาได้ผลด้วยวิธีต่างๆข้างต้นได้แล้ว ควรปรึกษาแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น