หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจจะเต้นช้ากว่าหรือเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองอุดตัน และอาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้
โดย “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ คือ อัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที
2.หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คือ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที
*** ทั้งนี้อัตราการเต้นของหัวใจที่เรียกว่า “ปกติ” จะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที***
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ได้แก่
•ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ
•ความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ
•ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน
•คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
•ความเครียดและความวิตกกังวล
อาการเตือน “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”
•กรณีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ จะส่งผลให้มีอาการมึนงง ใจหวิว ระดับความดันโลหิตต่ำลง และอาจทำให้เป็นลมหมดสติได้
•กรณีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ จะส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว และอาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืด เสี่ยงภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตเฉียบพลัน
“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” สามารถป้องกันได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเองง่าย ๆ ดังนี้
•หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง การสูบบุหรี่
•หลีกเลี่ย ความเครียด เพราะสามารถไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะได้
•รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
•ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
•ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
โรงพยาบาลพญาไท (https://bit.ly/3x3g8oD)
โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ (https://bit.ly/3A0JHJH)
โรงพยาบาลนครธน (https://bit.ly/2UJudtk)