เรียกว่าเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีกระแสข่าวว่า บางคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาจจะมีผลข้างเคียงในเรื่องของ ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน’ ซึ่งก็สร้างความกังวลอยู่พอสมควร แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาวะนี้คืออะไรกันแน่ เรามารับทราบข้อมูลร่วมกัน
สาเหตุของ ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน’
1.ผนังหลอดเลือดผิดปกติ
สำหรับอาการนี้ เกิดมาจากบาดแผลเกิดขึ้นจากการถูกมีดบาด หรือ การเข้ารับการรักษา การผ่าตัดบางอย่าง จนทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย รวมถึงในบางครั้งก็มีผนังหลอดเลือดมีคราบไขมันอุดตัน ก็อาจจะเกิดภาวะนี้ได้
2.มีการเกิดไหลเวียนของเลือดผิดปกติ
อาจจะเกิดมาได้หลายสาเหตุ เช่น ทั้งการเกิดการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ เกิดจากภาวะเจ็บป่วยบางอย่างที่ทำให้ร่างกายขยับไม่ได้ ซึ่งเมื่อเกิดการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ จะทำให้เสี่ยงทำให้เกิดตะกอนได้ง่าย เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวอาจเกิดการกระจุกอุดตัน จนทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นมาได้ในที่สุด
3.การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
เกิดจากสารห้ามการแข็งตัวของเลือดในร่างกายบกพร่อง เช่น ร่างกายขาดโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย
จุดเสี่ยงหลัก “ลิ่มเลือดอุดตัน”
1.ขา
ด้วยความที่เป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ เนื่องจากหลอดเลือดแดง จะทำให้หัวใจจะบีบตัวส่งเลือดแรงตลอดเวลา เลือดจึงมักไม่ค่อยหยุดนิ่ง ผิดกับหลอดเลือดดำที่มักมีการหยุดนิ่งมากกว่า ยิ่งในตำแหน่งขาที่เลือดไหลเวียนช้า จึงยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย
2.ปอด
มักเกิดในบริเวณหลอดเลือดแดง ซึ่งน้ำเลือดที่ไม่มีออกซิเจนจากหัวใจห้องล่างขวาเข้าสู่ปอด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ พบการอุดตันของลิ่มเลือดได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ตลอดแนวหลอดเลือดในช่องท้อง บริเวณตับ ม้าม เป็นต้น
อาการ
ส่วนอาการของภาวะนี้นั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตำแหน่งที่เกิด โดยหากเกิดที่ขา จะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วจะรู้สึกปวดบวมมากขึ้น อาการจะเป็นกระทันหัน คือเมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ก็จะพบอาการปวดบวมใน 2-3 วัน
ส่วนในกรณีที่พบที่ปอด จะมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก จนสุดท้ายถ้าไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นแล้ว หากเป็นกรณีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ก็จะมาด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรง
ใครเสี่ยงเป็น “ลิ่มเลือดอุดตัน” มากที่สุด
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นภาวะดังกล่าวนี้นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงวัยอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากถ้ามีโรคประจำตัวที่เพิ่มขึ้น ผนังหลอดเลือดในร่างกาย ก็ยิ่งจะมีความเสื่อมมากกว่าคนอายุน้อย และเสี่ยงต่อร่างกายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาวะนี้ก็สามารถส่งต่อไปทางพันธุกรรมได้ ประมาณว่า ถ้าพ่อหรือแม่มีสภาวะขาดโปรตีน ทายาทก็เสี่ยงที่จะเป็นได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้ง ผู้ที่เคยมีประวัติในเรื่องของการผ่าตัด การใช้ยาเสพติด ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาคุมกำเนิด และกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปเช่นกัน
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างจากลิ่มเลือดอุดตัน
เนื่องจากโอกาสในการเกิดภาวะดังกล่าวนั้น ตามผันแปรไปตามอายุ ฉะนั้นแทบจะเป็นไม่ได้เลยที่จะป้องกันได้แบบร้อยเปอร์เซนต์นัก แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ให้ไม่มีโรคประจำตัว หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด ยาคุมกำเนิด ตลอดจนยาแก้ปวดหรือไมเกรนบางตัว ซึ่งทำให้เกิดสภาวะดังกล่าว เพราะมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดบางตำแหน่งหดตัวเฉียบพลัน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ จนเกิดการตกตะกอนกลายเป็นลิ่มเลือดในที่สุด
ขณะเดียวกัน การควบคุมน้ำหนักให้ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ถือเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ด้วยเช่นกัน เพราะน้ำหนักตัวที่มากขึ้นเกินค่า BMI มาตรฐานนั้น จะส่งผลทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ให้รอดพ้นจากภาวะดังกล่าวนี้ได้