อาการใจสั่น คือ อาการที่เกิดจากหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นเร็วเกินไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ออกกำลังกายหนักเกิน มีความเครียด หรือแม้กระทั่งผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือสาเหตุรุนแรงที่พบได้น้อย เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุของอาการใจสั่นเกิดจากอะไรได้บ้าง
1. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง อาจทำให้หัวใจของคุณจะเต้นเร็วขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ทัน ทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไปจนกระทั่งเกิดอาการใจสั่น
2. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
หากวันทั้งวันไม่ได้รับประทานข้าว อาจทำให้มีอาการใจสั่น มื่อสั่น เหงื่อออก และหน้ามืดได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง
3. ได้รับคาเฟอีนมากเกิน
เพราะเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้ใจสั่นได้ นอกจากกาแฟแล้ว คาเฟอีนยังพบจากอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ได้อีก เช่น ชา ช็อคโกแลต โซดา และเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ
4. ความเครียดหรือความกังวล
เนื่องจากมีผลเร่งการเต้นของหัวใจ เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่จะเผชิญความกลัว แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้เกิดอาการ ใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก สั่น หายใจติดขัดได้ โดยอาการนี้จะมีอาการคล้ายกับโรคหัวใจ แต่หากไม่แน่ใจในอาการและโรค ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
5. จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
อาจเกิดได้จากหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ซึ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ, หัวใจห้องบนเต้นถี่, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติ
6. การรับประทานยาบางชนิด
ยาบางชนิดทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ เช่น ยาพ่นรักษาหอบหืดบางชนิดที่มีส่วนประกอบของสารกระตุ้น เช่น ซาลบูทามอล ยาแก้ไอหรือยาแก้หวัด ที่มีส่วนประกอบของยาซูโดเอฟีดรีน ยารักษาภาวะซึมเศร้า ยาปฏิชีวนะ ยาลดน้ำหนัก หรือ ยาลดความดัน ฯลฯ ซึ่งหากรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกันก็อาจทำให้ใจสั่นได้
7. ความผิดปกติทางโครงสร้างอื่น ๆ
เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการใจสั่น
-เป็นลมหมดสติ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือลิ้นหัวใจมีปัญหา
-โรคหลอดเลือดในสมอง สามารถเกิดได้จากอาการใจสั่นที่มีสาเหตุจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดไปปิดกันเส้นเลือดในสมอง จนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้
-หัวใจหยุดเต้น สามารถเกิดขึ้นได้แต่พบได้น้อย เป็นอันตรายรุนแรงถึงกับชีวิตได้ โดยจะเกิดกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
-หัวใจวาย เป็นผลมาจากการที่หัวใจสูบฉีดไม่มีประสิทธิภาพเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ดังนั้น หากเกิิดอาการใจสั่นบ่อยครั้ง อาจเกิดได้จากสาเหตุข้างต้น หรือหากไม่แน่ใจว่าเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษา
ข้อมูลอ้างอิงประกอบ : https://www.pobpad.com, https://www.vejthani.com
เรื่อง : จณิสตา สิทธิ