xs
xsm
sm
md
lg

"โรคแพ้เหงื่อตัวเอง" สาเหตุหลักเกิดจากความร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้ประเทศไทยอากาศร้อน อบอ้าว หลายคนพบว่าตนเองมักจะมีอาการผิดปกติกับผิวหนัง หนึ่งในนั้นคืออาการแพ้เหงื่อ ซึ่งเป็นลมพิษชนิดหนึ่งที่เกิดจากความร้อน โดยความร้อนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อถูกหลั่งออกมาร่วมกับการเกิดผื่น หรือผู้ป่วยบางคนอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้หรือภูมิต้านทานอย่าง สารอิมมิวโนโกลบูลิน ต่อเหงื่อของตัวเอง จึงทำให้เกิดเป็นผื่นลมพิษขึ้น


อาการแพ้เหงื่อเกิดขึ้นจากอะไร ?


สาเหตุหลัก คือ ความร้อน หากอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูง หรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย จะทำให้ต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน และเมื่อผิวหนังมีปฏิกิริยากับเหงื่อและความร้อน ก็จะกระตุ้นให้เกิดลมพิษขึ้นมา ในบางครั้งอาการแพ้เหงื่อสามาารถเกิดจากภาวะความเครียดได้ และยังเกิดได้จากปัจจัยอื่นอีก เช่น


1. การเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติของร่างกาย


ผิวหนังมีความไวต่อเหงื่อภายในร่างกายเป็นพิเศษ อาจเกิดจากการทำงานของเซลล์ภูมิแพ้ที่ผิดปกติหรือระบบภูมิคุ้มกันที่มีการทำงานมากเกินไป

2. เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว


โรคผิวหนังบางชนิด อาจจะทำให้ร่างกายนั้นผิดปกติโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเหงื่อออกมาก ก็จะยิ่งทำให้มีอาการคันตามร่างกาย หรือไม่ก็ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้น ๆ มีอาการแดงขึ้นมาทันที มีปฏิกิริยาที่ไวต่อเหงื่อ


3. อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ


หากอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมาก พื้นที่นั้นมีเชื้อโรคและแบคทีเรีย หรือมีค่าฝุ่น pm 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายมีเหงื่อออก หรือหากร่างกายสัมผัสโดนฝุ่นละออง ก็ย่อมทำให้เกิดอาการแพ้ฝุ่นร่วมด้วยได้


4. เกิดกับคนที่มีผิวพรรณที่บอบบางและแพ้ง่าย


การมีผิวพรรณที่บอบบางเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างง่าย ๆ ยิ่งหากมีเหงื่อไคลออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อไปสัมผัสกับเชื้อโรคและแบคทีเรียร่วมด้วย


วิธีรักษาอาการแพ้เหงื่อเบื้องต้น


1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ


เช่น ว่านหางจระเข้จากธรรมชาติ หรือเจลว่านหางจระเข้ที่ไม่ผสมสี น้ำหอม และสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวที่อาจเพิ่มมากขึ้น และยังใช้สเปรย์ว่านหางจระเข้ที่มีมาตรฐานฉีดพ่นได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวโดยตรง แต่หากมีหนอง ผื่นแดง คันมากขึ้นหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์


2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้


เช่น การออกกำลังกาย ้ควรออกกำลังกายในบริเวณที่มีอากาศไม่ร้อนจนเกินไป หรือหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น ควบคุมความเครียดและความวิตกกังวลของตนเอง


3. ทำความสะอาดเพื่อล้างคราบเหงื่อ


เพื่อไม่ให้เหงื่อแห้งติดอยู่บนผิวหนังนานจนเกินไป อาการคันที่เกิดขึ้นก็จะทุเลาลงได้


4. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม


ถ้าพบว่าตนเองมีภาวะแพ้เหงื่อจากความร้อน ควรหลีกเลี่ยงกากินอาหารรสเผ็ดจัด ลดการกินอาหารหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ ควรควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการได้

ข้อมูลอ้างอิงประกอบ : https://www.pobpad.com

เรื่อง : จณิสตา สิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น