เชื่อว่าทุกคนต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรัก ไม่ว่าจะเป็นรักแฟน รักแรกพบ รักเขาข้างเดียว แล้วอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกรัก ทำไมบางคนที่เราชอบเวลาเจอแล้วใจสั่น ประหม่า พูดผิดพูดถูก แล้วทำไมคู่รักหรือคู่ที่แต่งงานหลายคู่ที่อยู่ด้วยกันมานานแต่ก็ยังดูรักกันมาก ๆ สม่ำเสมอ หวานชื่นเหมือนตอนรักกันแรก ๆ ความจริงแล้วมีอะไรซ่อนอยู่ในความรู้สึกรักนี้
ในทางการแพทย์ได้พบว่าในร่างกายมีฮอร์โมนหลายตัวทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นตอนของความรัก ไม่ว่าจะเป็น อะดรีนาลีน (Adrenalin) ทำให้ใจเต้นเร็ว ,เทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ทำให้เกิดตัณหาและความอยาก ,เซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้เกิดอารมณ์ซึม เศร้า เหงา
ออกซิโตซิน คืออะไร มีผลอะไรต่อความรักอย่างไร?
ออกซิโตซิน (Oxytocin) คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่หลัก ๆ คือ ฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร ฮอร์โมนตัวนี้จะสัมพันธ์กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จะหลั่งออกมาตอนที่ผู้หญิงคลอดลูก ทำให้มีแรงเบ่ง แล้วก็ยังมีผลต่อการให้นมบุตร เพราะจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมให้เพียงพอต่อลูกน้อย
ความสำคัญของออกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพัน เช่น การกอด สัมผัสมือ หรือการมีเซ็กส์ก็จะทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น จะ ทำให้เราเกิดความผูกพัน รู้สึกรัก อยากอยู่ร่วมกับคนรัก และสร้างครอบครัว
นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับออกซิโตซิน นั่นคือ เอนดอร์ฟิน (Endorphin) โดยเอนดอร์ฟิน นั้นเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเช่นกัน เป็นฮอร์โมนที่ต้องให้ร่างกายสร้างและหลั่งสารนี้เอง เอนดอร์ฟินจะทำให้ร่างกายเกิดความสุข ความผ่อนคลาย ลดอาการปวด ชะลอความเสื่อมของร่างกาย เรามีความรัก จึงทำให้เกิดการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้ง 2 ฮอร์โมนนี้ออกมา และทำให้เรามีความสุขนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงประกอบ
https://www.bangkokhospital.com/content/love-hormone
เรื่อง : จณิสตา สิทธิ