xs
xsm
sm
md
lg

คุณผู้หญิงควรทราบ! มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ยิ่งรู้ตัวเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก : https://pixabay.com/
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งมะลูกคือ โรคมะเร็งที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิงซึ่งพบได้มากที่สุด ส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งมดลูกมักเกิดจากเซลล์ที่สร้างเยื่อบุโพรงมดลูก จึงมักเรียกมะเร็งชนิดนี้ว่ามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หลายคนมักจำสับสนระหว่างมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งคนละชนิด โดยเจ้ามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ ถ้ามาพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการก็จะมีโอกาสรักษาหายค่อนข้างสูง

สัญญาณเตือนจากร่างกาย ว่าอาจมีเซลส์มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก่อตัวอยู่ มีดังนี้

1. มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยผู้ที่เข้าวัยทองจะเริ่มมีเลือดออกจากช่องคลอดเพียงเล็กน้อยปนมากับของเหลว และมักมีเลือดออกมากขึ้น

2. ผู้ที่ยังไม่เข้าวัยทองแต่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ รวมทั้งมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน
 
3. ปวดท้องน้อยและรู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้พบทั่วไป

4. คลื่นไส้ รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร รวมทั้งปวดหลัง ขา หรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งเข้าระยะที่ 4

ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือผู้ที่รอบเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากภาวะอาการเหล่านี้จะมีสาเหตุมาจากมะเร็งมดลูกเพียง 1 ใน 10 รายเท่านั้น ดังนั้นอาการเลือดออกจากช่องคลอดจึงอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก หรือติ่งเนื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น


ใครบ้างที่เสียงต่อการป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก?

1. กลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-74 ปี เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีเพียง 1% เท่านั้น

2. กลุ่มผู้ที่ได้รับการกระตุ้นฮอร์โมน เช่น ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนวัยทอง โดยฮอร์โมนวัยทองมีหลายชนิดและหลายส่วนประกอบ ชนิดที่มีเอสโตรเจนอย่างเดียวไม่มีโปรเจสโตเจนจะสามารถกระตุ้นโรคนี้ได้มาก ส่วนชนิดที่มีเอสโตรเจนและมีโปรเจสโตเจนร่วมด้วยก็ไม่ทำให้เป็นโรคนี้ ดังนั้นผู้ที่รับประทานฮอร์โมนวัยทองควรปรึกษาแพทย์ก่อน และอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือผู้ที่รับประทานยาสมุนไพรบางชนิดที่มีเอสโตรเจนปริมาณสูง เช่น กวาวเครือ และอีกหลายชนิดมีเอสโตรเจนแฝงอยู่โดยไม่รู้ จึงอาจทำให้เลือดระดูออกผิดปกติหรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

3. กลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วน มีแนวโน้มเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันจะผลิตเอสโตรเจนออกมา ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนตัวนี้มากขึ้นอันเป็นปัจจัยของโรค ผู้ที่ประสบภาวะอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติมากถึง 3 เท่า และเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้มากถึง 6 เท่า

4. กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคนี้ถึง 2 เท่า เนื่องจากเบาหวานเพิ่มระดับอินซูลิน ซึ่งส่งผลให้เอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็งมดลูกมากขึ้นกว่าเดิม

5. กลุ่มผู้ป่วยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มา น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีสิว และมีขนขึ้นตามร่างกายมากเกินไป อีกทั้งยังเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากโรคนี้กระตุ้นให้ระดับเอสโตรเจนสูงขึ้น

6. กลุ่มผู้ที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

7. กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ปกติแล้ว ยีนจะทำหน้าที่ซ่อมแซมยีนผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เซลล์แบ่งตัว ผู้ที่ประสบภาวะมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะไม่มีการซ่อมแซมยีนผิดปกติ ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ลักษณะดังกล่าวขึ้นมา และกลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยโรคนี้เสี่ยงเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้สูงมาก โดยมีแนวโน้มจะป่วยเป็นมะเร็งมดลูกก่อนอายุ 45 ปี

8. กลุ่มผู้ที่มีปัญหารอบเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือรอบเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี จะมีระดับเอสโตรเจนที่นานกว่าปกติ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

9. กลุ่มผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์ เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงเมื่อตั้งครรภ์

10. กลุ่มผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัว ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เคยป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาจเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้


ภาพจาก : https://pixabay.com/
การวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่แน่นอนจะได้จากการนำเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยา (ส่องกล้องย้อมเซลล์ดู) ซึ่งมักต้องขูดมดลูกให้ได้เนื้อเยื่อไปตรวจ ส่วนในผู้ทีเคยมีบุตรแล้ว การขูดมดลูกทำได้โดยการฉีดยาชา ส่วนผู้ที่ยังโสด หรือไม่เคยมีบุตรแพทย์มักวางยาสลบให้ไม่เจ็บ และสามารถกลับบ้านได้หลังขูดมดลูก แต่อย่าเป็นกังวลไป หากแพทย์พิจารณาแล้วไม่ค่อยเหมือนมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ก็อาจจะไม่ต้องขูดมดลูก

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทำได้อย่างไรบ้าง?

1. การผ่าตัด โดยการตัดเอามดลูก ปากมดลูก ปีกมดลูก (รังไข่และท่อนำไข่) ออกร่วมกับการล้างน้ำในช่องท้องและสุ่มตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยทำให้ทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของโรค หากพบว่าเป็นระยะแรก กล่าวคือ มีมะเร็งอยู่เฉพาะที่เยื่อบุโพรงมดลูก ยังมีการลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกไม่มาก ไม่มีการกระจายของโรคไปอวัยวะอื่น การผ่าตัดที่กล่าวมาก็เพียงพอในการรักษา

2. การฉายรังสี ในกรณีที่พบว่าเริ่มมีการลุกลามของมะเร็งลึกขึ้น หรือกระจายไปในอวัยวะข้างเคียง หลังผ่าตัดจำเป็นต้องได้รับรังสีรักษา (ฉายแสง) หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย

แนวทางการลดความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทำได้ดังนี้

1. ปรึกษาแพทย์หลังเข้าวัยทอง ผู้ที่เข้าวัยทองควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องการใช้ฮอร์โมนบำบัดสำหรับควบคุมอาการของภาวะนี้ เนื่องจากการได้รับฮอร์โมนบำบัดชนิดที่มีเอสโตรเจนอย่างเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออกไปนั้น อาจทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้สูง

2. ใช้ยาคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้นานหลายปีหลังหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลดีและผลเสียก่อน

3. คุมน้ำหนักตัว ภาวะอ้วนนับเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที

5. เข้ารับการรักษาปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเยื่อบุโพรงมดลูกควรเข้ารับการรักษา เนื่องจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวสามารถลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

6. ปรึกษาแพทย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการรักษาโรคดังกล่าว เนื่องจากโรคนี้ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้สูง ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกออกไปเพื่อป้องกันการป่วยเป็นมะเร็งดังกล่าว

อ่านมาถึงตรงนี้ สาว ๆ ที่ยังโสด หรือยังไม่มีลูกคงกำลังกังวลกันอยู่ใช่ไหมคะ แต่อย่าได้จิตตกไป เพราะโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีข้อดี คือ มักมีอาการเตือนแต่แรกเริ่ม หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดนั่นเอง ดังนั้นการพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติจะช่วยให้รักษาได้แต่เนิ่น ๆ โดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โอกาสหายสูงมาก ๆ ค่ะ

เรื่อง : รวินท์นิภา แต้เกียรติเจริญกุล

ข้อมูลอ้างอิง : https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/endometrium_cancer
https://www.pobpad.com/มะเร็งมดลูก


กำลังโหลดความคิดเห็น