xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลมีเดีย ปั่นโทสะอคติทั่วโลก / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

The Great Hack และ Social Dilemma เป็นภาพยนตร์สารคดี 2 ชิ้นของ Netflix ที่ทำให้เราทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียและเสิร์ช เอ็นจินทั้งหมดเรียนรู้และตระหนักว่า พวกเรากำลังตกอยู่ในภวังค์ของสังคมในสิ่งที่เราเชื่อและอยากเชื่อจนเกิดอคติคิดว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสังคมหรือไม่

เพราะถ้าเราดูภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่องนี้ก็จะทำให้รู้ว่าธุรกิจโซเชียลมีเดียนั้นมีเป้าประสงค์ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้คนมาดูมากที่สุด และการเข้ามาดูมากที่สุดก็จะเป็นผลทำให้ขายโฆษณามากขึ้น


วิธีการในยุคนี้คือใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะแจ้งเตือนให้เราหันมาสนใจ “สนองข้อมูลที่เราเชื่อ” หรือ “อยากจะเชื่อ” มากขึ้นและลึกขึ้น จนไม่สามารถเห็นอีกโลกของเหรียญอีกด้านหนึ่งที่คัดค้านหรือเห็นต่างจากสิ่งที่เราเชื่อ และเห็นสิ่งนั้นซ้ำ ๆ และรวมตัวกัน จนกลายเป็นความเชื่อต่ออคตินั้นในที่สุด

ถ้าคนที่ขาดวุฒิภาวะก็อาจจะถึงขั้นเกลียด โกรธ ด้วยการใช้วาจาหรือพฤติกรรมรุนแรงในระดับขาดสติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับปัญญาชนทุกยุค หรือเรียกว่า “คลั่ง” ไปเลยก็ได้

ในสารคดี Social Dilemma ได้นำเสนอว่ามีข่าวปลอมได้ถูกผุดออกมาผ่าน ทวิตเตอร์มากที่สุด และถ้ายกตัวอย่างของผู้เชี่ยวชาญในกรณีประเทศไทยระบุว่าการมีคนรวมตัวกันเพียง 700 ก็สามารถปั่นทวิตเตอร์ให้ถึง 50,000 กลายเป็นเทรนด์ของทวิตเตอร์ที่โน้มน้าวให้เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น และจะเห็นได้ชัดว่าข้อความที่ติดอันดับเทรนด์นั้นเป็นเรื่องข่าวปลอม ไร้หลักฐาน และไร้ความรับผิดชอบ จนถึงขั้นผิดกฎหมายมาแล้ว นี่คือความน่าเป็นห่วงของเทคโนโลยีในยุคนี้จริง ๆ

และการที่มีข่าวปลอมปนอยู่มาก เห็นและจมอยู่กับอคติที่ตัวเองเชื่อและอยากเชื่อ ก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงกับคนที่มีความเห็นต่าง ไปจนถึงระดมคนไปออกล่าแม่มดหรือกดดันให้คนอื่นต้องมีความเห็นเหมือนตัวเองเท่านั้น สังคมก็จะยิ่งมีความแตกแยกทางความคิดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

นอกจากความน่าเป็นห่วงต่อวิวัฒนาการของการใช้โซเชียลมีเดียแล้ว ภาพยนตร์สารคดีของ The Great Hack ยังทำให้เราเห็นว่าองค์กรอย่าง Cambridge Analytica ได้เคยซื้อข้อมูลประชาชนที่เคยแสดงออกทั้งหมดในโซเชียลมีเดีย เพื่อออกแบบให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเข้าไปในโลกความเชื่อทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งและมีผลต่อการเลือกตั้งในหลายประเทศด้วย ซึ่งผู้บริหารขององค์กรนี้มักจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างประเด็นความแตกแยกอย่างหนักในแต่ละประเทศ และได้เคยทำภารกิจทางการเมืองในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ความน่าเป็นห่วงจึงไม่ใช่มีเพียงการถูกล้วงข้อมูลนำมาใช้ในปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ทำให้ความคิดทางการเมืองแคบลงและรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจจะมีองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถจัดการบงการวางแผนชี้นำความคิดของประชาชนแต่ละประเทศเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนที่มีวาระซ่อนเร้นทางใดทางหนึ่งก็ได้

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมความขัดแย้งทางความคิดและความเชื่อของประชาชนทั่วโลกที่ใช้โซเชียลมีเดีย จึงมีความแตกแยกกันมากขึ้น และรุนแรงมากขึ้น ด้วยความแตกต่างของวัย ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง

โลกกำลังต้องการหาทางออกจากคนที่เปิดกว้าง รับฟังความเห็นที่แตกต่างจากตัวเอง และเคารพสิทธิในความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงทั้งภาษา กำลังกายมาใช้ความโกรธหรือเกลียดมาบังคับขู่เข็ญหรือคุกคามใครได้

เชื่อได้ว่าพวกกลุ่มคนสุดโต่งของความเชื่อและความต้องการของตัวเอง ทั้งการใช้ความรุนแรงทางภาษาและกำลังกาย จะเป็นตัวบั่นทอนความชอบธรรมในกลุ่มความเชื่อของตัวเอง

จึงเชื่อได้ว่าสังคมจะมีวิวัฒนาการในการเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะเป็นผลดีและผลเสียต่อความเชื่อของตัวเอง แต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีต้นทุนของความเสียหายต่อสังคมมากเพียงใดกว่าจะถึงจุดเรียนรู้นั้นได้

ประชาชนที่มีสติเท่านั้นที่จะรวมตัวกันที่จะพอบรรเทาให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจำกัดวงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น