xs
xsm
sm
md
lg

ความดันโลหิตสูง ระวังโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกนั้น เป็นโรคที่มีความอันตรายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตแล้วหากแม้ยังไม่เสียชีวิตก็อาจจะทำให้เกิดภาวะพิการอันเนื่องมาจากอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ซึ่งนอกจากจะสร้างความทุกข์กายและใจให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังเกิดภาระอย่างหนักในการดูแลจากคนในครอบครัวด้วย

ถ้ามีความโชคดีถ้าเป็นเพียงเส้นโลหิตสมองตีบ หากรีบนำส่งโรงพยาบาลและได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน ก็มีโอกาสที่จะรอดพ้นจากการพิการได้ แต่หากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลล่าช้า ก็อาจจะพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคและอยู่คนเดียวในบ้านโดยไม่มีคนดูแลก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น

แต่ถ้าเป็นโรคเส้นโลหิตสมองแตกแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมก็ยิ่งยากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ (เพราะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น) หรือแม้แต่ส่งโรงพยาบาลเร็วก็ไม่แน่ว่าจะรักษาชีวิตได้หรือจะทำให้รอดพ้นจากการพิการได้ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองว่าเกิดขึ้นมากเพียงใด

และเมื่อเข้าสู่การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังพ้นวิกฤติแล้ว นอกจากความเข้าใจในการบูรณาการทางการแพทย์ทั้งเรื่อง อาหาร กายภาพบำบัด ฝังเข็ม กดจุด การออกกำลังกาย การกอกเลือด (การครอบแก้วเพื่อเอาเลือดออก) และการใช้สมุนไพรแล้ว กำลังใจทั้งจากผู้ป่วยและคนรอบข้างยังเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง


แต่ถ้ากล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองนั้น ไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า “ภาวะความดันโลหิตสูง”คือสัญญาณอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดสมองอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าภาวะความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน หลอดเลือดอักเสบ ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ

แต่ภาวะความดันโลหิตสูงต่อเนื่องในภาวะฉุกเฉินนอกจากการรับประทานยาแล้ว ยังสามารถใช้การกดจุด หรือนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งตัว การรับประทานสมุนไพรหรือการสวนล้างลำไส้เพื่อลดแรงดันภายในร่างกาย รวมถึงการพูดคุยและหากิจกรรมเพื่อลดความเครียดให้ได้ รวมถึงการฝึกหายใจหรือทำสมาธิเพื่อลดความดันก็สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับคนที่มีความเครียดในที่ทำงาน เพียงพัก กางแขน และขา เพื่อผ่อนคลายลดความเครียดก็สามารถลดความดันโลหิตได้ในหลายกรณี และการลดอาหารที่มีการถนอมอาหารผสมเกลือมาก รวมถึงการรับประทานผักสดปั่นเป็นประจำก็จะช่วยการอักเสบของหลอดเลือดได้และยังนำไปสู่การลดความดันโลหิตได้ด้วย

เพียงแต่ว่าคนที่ยังไม่สามารถปรับพฤติกรรมหรืออาหารเพื่อลดความเสี่ยงยังจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาลดความดันและยาละลายลิ่มเลือดต่อไป รวมถึงการบริโภคไขมันที่มีโอเมก้า 3 และอาหารหรืออาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 เพื่อที่จะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดโลหิตในสมองให้ลดลงด้วย

ข้อสำคัญต้องหารทางลดการบริโภคแป้งขัดขาว น้ำตาล และการผัดทอดไขมันไม่อิ่มตัวให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ หรือ Vegan ที่ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้อยู่ เพราะขาดวิตามินบี 12 รวมถึงกินแป้ง น้ำตาล หรือการผัดทอดกรอบๆ ด้วยไขมันไม่อิ่มตัวมาก ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น


และระหว่างการปรับอาหารหรือสมุนไพรแต่ยังควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ไม่ควรหยุดยาลดความดันโดยเด็ดขาด 


ข้อสำคัญทุกบ้านควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตเอาไว้เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงต่อเส้นโลหิตสมองของสมาชิกในครอบครัว

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น