เรียกได้ว่าสร้างความสะพรึงให้กับโลกกันอีกครั้งแล้ว เมื่อมีรายงานข่าวว่า มีการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดหมู สายพันธุ์ G4 ซึ่งมีการระบาดในประเทศจีน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งในคนไทยเองก็ได้ทำความรู้จักกับ ไข้หวัดชนิดดังกล่าวแล้ว แต่สายพันธุ์ใหม่นี้ อาจจะยังถือว่าใหม่มาก ว่าแล้วก็ไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่า
โรคไข้หวัดหมู คืออะไร
โรคไข้หวัดหมู G4 มาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ “G4 EA H1N1” หรือ G4 ในหมู ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรมกับเชื้อไวรัส H1N1 2009 ที่เคยระบาดเมื่อตอนปี 2552 ซึ่งทางการจีนพบว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวนี้มีโอกาสที่จะปรับตัวและอาจแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนและจะก่อให้เกิดโรคระบาดได้ในอนาคต
โดยนายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวว่า โรคดังกล่าว มีลักษณะเฉพาะตัว เพราะมีการผสมควบรวมจากการพบสามสายพันธุ์ ทั้งในยุโรป และเอเชีย บวกกับไข้หวัดนก 2009 จากฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ที่มียีนจากไข้หวัดใหญ่จากนก คนและหมู
ขณะที่ ศาตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสวิทยา ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ‘ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่’ ยังไม่พบในประเทศไทย แต่จะสามารถติดต่อกันได้ง่ายและมีความรุนแรงของโรคมากกว่าไข้หวัดหมูสายพันธุ์อื่น เพราะไข้หวัดลักษณะนี้เป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่พบในประเทศจีน ซึ่งจากการทดลองภูมิต้านทานที่ฉีดในวัคซีนประจำฤดูกาลในคน ไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ แถมยังก่อให้เกิดโรคในสัตว์ทดลองมีอาการมากกว่าสายพันธุ์อื่น แถมสามารถติดต่อได้ทั้งสัมผัสโดยตรงและทางฝอยละออง
ไข้หวัดหมู G4 อันตรายหรือไม่
แม้ว่า ณ ขณะนี้ โรคดังกล่าวจะยังไม่เผยแพร่ในคนมากนัก แต่ต้องมีการจับตาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื้อเหล่านี้มีวิวัฒนาการ ที่สามารถควบรวมสายพันธุ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แถมยังคืบคลานไปข้ามดินแดนต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งไม่มีอาการ จนกระทั่งมีอาการน้อย และต้องมีการระวังว่ามีการติดเชื้อแพร่จากคนสู่คนได้
การป้องกันโรคไข้หวัดหมู G4
สำหรับการป้องกันในช่วงนี้ ก็ต้องเหมือนกับวิธีดูแลตัวเองแบบไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 นั่นคือ การเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ พร้อมกับ ติดตามข่าวสารอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งถ้าพบเห็นการป่วยไข้หวัดเป็นกลุ่มก้อน ก็สามารถแจ้งมายังหน่วยงานสาธารณสุขที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ หรือรายงานมาที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เลย