xs
xsm
sm
md
lg

5 สมุนไพรต้องระวัง ทำให้ไตเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่า “สมุนไพร” “ผัก” หรือ “ผลไม้” ก็ใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว เพราะหากเลือกรับประทานไม่เหมาะสมกับร่างกาย หรือบริโภคเกินพอดี ก็ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้

และนี่ก็คือตัวอย่างของสมุนไพร 5 ชนิด ที่หากรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานไม่เหมาะสมกับร่างกาย จะทำให้ไตเสื่อมได้


1. มะเฟือง (star fruit)

สมุนไพร แก้ไข้ แก้ไอ ช่วยขับปัสสาวะ แต่มะเฟืองเป็นผลไม้ที่มีสารออกซาเลต (Oxalic acid) ในปริมาณมาก เมื่อเรารับประทานในปริมาณมากหรือรับประทานในขณะท้องว่าง ทำให้สารออกซาเลตถูกดูดเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และถูกขับทางไต สารชนิดนี้จะไปจับตัวกับแคลเซียมในไต ทำให้เกิดนิ่วในเนื้อไตและท่อไต ส่งผลให้เกิดไตเสื่อม และไตวายเฉียบพลันได้

ดังนั้นทั้งคนปกติหรือผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะเฟืองในปริมาณมาและติดต่อกันเป็นเวลานานจะดีที่สุด ภาวะไตวายจากการรับประทานมะเฟืองไม่ค่อยพบในคนปกติ แต่จะเกิดกับผู้ที่ไตผิดปกติอยู่แล้ว

2.ลูกเนียง หรือ ชะเนียง (djenkol bean)

พืชตะกูลถั่วที่นิยมรับประทานกันมากทางภาคใต้ของไทย มักใช้ลูกอ่อนปอกเปลือกจิ้มน้ำพริกหรือใช้เป็นเครื่องเคียงอาหารรสเผ็ด

ลูกเนียงประกอบด้วยกรดแจงโคลิค (djenkolic acid) เป็นกรดอะมิโนที่มีกำมะถันสูงมากและเป็นพิษต่อร่างกาย กำมะถันจะไปทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง มักเกิดอาการภายใน 2-14 ชั่วโมง ภายหลังรับประทานจะมีอาการปวดตามบริเวณขาหนีบ ปัสสาวะลำบาก และมาก บางรายไม่ปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้ไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง

3.ใบยอ (Indian Mulberry leaves)

ความเข้าใจผิดว่าน้ำใบยอสามารถรักษาโรคไตได้ แท้จริงใบยอไม่สามารถรักษาได้ และยังทำลายไตอีกด้วย ซึ่งใบยอมีธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก เป็นอันตรายต่อไต เพราะไตไม่สามารถนำฟอสฟอรัสออกมาใช้ได้ตามปกติ จึงเกิดการสะสมตัวอยู่ในกระแสเลือด ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อย่างโรคนิ่วในไต และนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้


4.ผักโขม (Amaranth)
 

ผักโขมมีปริมาณของสารออกซาเลตค่อนข้างสูง (Oxalate) ผู้ที่มีเป็นโรคนิ่ว โรคเกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ที่ต้องการสะสมปริมาณของแคลเซียมควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ หรือแบบดิบ ๆ  

มีคำแนะนำว่าการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด การคั่ว จะช่วยลดปริมาณสารออกซาเลตได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการต้ม หรือนึ่ง

5.หญ้าหนวดแมว (Java Tea)

มีฤทธิ์กระตุ้นการขับปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะและไต หญ้าหนวดแมวประกอบด้วยสารสำคัญแร่ธาตุ อาทิ โปแทสเซียม สารจำพวก Lipophilic flavones สารจำพวกซาโปนินและน้ำมันหอมระเหย หญ้าหนวดแมวมีปริมาณโปแทสเซียมที่สูงมาก จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การที่มีโปแทสเซียมสูงทำให้ไตทำงานหนักในการกรองและขับของเสียออกมาทางปัสสาวะ และถ้าไม่สามารถขับออกมาได้จะเกิดการคั่งของโปแทสเซียมในร่างกายเป็นอันตรายต่อหัวใจ ทำให้เสียชีวิตได้
 
ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


กำลังโหลดความคิดเห็น