xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำองค์กรแบบใหม่ พูดให้น้อย-ถามให้มาก /ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แนวคิดเรื่องการโค้ช (Coaching) กำลังเป็นที่นิยม มีการนำเอาวิธีการไปใช้ในการพัฒนาองค์กรและพัฒนาศักยภาพคนทำงานทั้งในระดับโลกและองค์กรชั้นนำของไทยทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ

ยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัลและความคิด พฤติกรรมของผุ้คนในยุคนี้ หลักการที่ว่าผู้นำและผู้บริหารหรือผู้จัดการก็ต้องทำหน้าที่แบบโค้ชให้กับคนในทีมงานจึงเป็นเรื่องทันยุคทันสมัย

เพราะยุคนี้ การใช้วิธี “สั่งและสอน” เพื่อให้ได้งาน อาจไม่ “ได้ใจ” แถมไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเต็มที่

แนวทางของสหพันธ์การณ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) หรือ ICF จึงดูเหมาะกับยุคสมัยโดยได้ให้ความหมายไว้ว่า...

“การโค้ช เป็นความร่วมมือกันระหว่างโค้ชและผู้รับการโค้ช ผ่านกระบวนการกระตุ้นความคิดและการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบันดาลใจให้ผู้รับการโค้ชใช้ศักยภาพอย่างสูงสุด ทั้งด้านส่วนตัวและด้านอาชีพการงาน”

ผมเองสนใจเรียนรู้และได้ฝึกฝนศาสตร์การโค้ชจนผ่านการรับรองเป็น “โค้ชผู้บริหาร” ตามมาตรฐานของ ICF แล้ว ก็ได้เห็นชัดว่าเป็นวิชาชีพที่สร้างกุศลในการช่วยให้ผู้รับโค้ชสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและพฤติกรรมที่เกิดผลดีกว่าเดิมและได้พบทางออกต่อปัญหาชีวิตและการงานได้

เมื่อได้อ่านหนังสือ The Coaching Habit ที่ว่าด้วยการสร้าง “นิสัยการโค้ช” ซึ่งไมเคิล บันเกย์ สเตเนียร์ ได้กลั่นประสบการณ์จากการทำงานที่ Box of Crayons สถาบันฝึกอบรมทักษะด้านการโค้ชให้คนมากกว่าหมื่นคนมาแล้ว ก็ได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายแง่มุม

ไมเคิลย้ำว่า “นิสัยการโค้ช ที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นไว้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนงานก็ตาม

กระบวนการโค้ช เป็นทั้ง “ศาสตร์” คือ เทคนิคการตั้งคำถามที่มีพลัง (Powerful Questioning) และการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) และเป็นทั้ง “ศิลป์”  คือ ลีลาการสนทนาอย่างจริงใจ เป็นธรรมชาติ พลิ้วไปกับความรู้สึกของผู้รับการโค้ชได้ดี

แต่ที่หนังสือเล่มนี้ใช้ย้ำก็คือ การบ่มเพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างนิสัยการโค้ชให้คืบหน้า จนเกิดทักษะและเป็นนิสัยอย่างเป็นธรรมชาติให้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นผู้นำและผู้จัดการที่ต้องปรับนิสัยการชอบ “แนะนำ” หรือลดการสั่งให้ทำตามให้เปลี่ยนให้เป็นการ “ตั้งคำถาม” ซึ่งแม้เป็นเรื่องยากในการแก้ความเคยชิน แต่ก็ต้องพยายามครับ

•การฝึกสร้างทักษะการโค้ชก็ไม่ยาก ถ้าเดินแนวนี้

1.ใช้แนวคำถามหัวใจหลัก 7 ประการ ที่เป็นแก่นของหนังสือเล่มนี้ สามารถดึงออกมาใช้ได้

2.บทสนทนาในลักษณะการโค้ชคนให้ได้ภายใน 10 นาที หรือน้อยกว่า

3.การโค้ชควรทำอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน

4.ให้เชื่อว่านิสัยการโค้ช สร้างได้ โดยผ่านกลไกการสร้างเสริม และปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ (ใช้แนวที่มีการรับรองพอแล้ว)


•สูตรสำเร็จในการสร้างนิสัยใหม่ๆ


1.ระบุตัวจุดชนวน ที่เป็นที่มาของเหตุที่เกี่ยวกับนิสัย หากสามารถระบุรายละเอียดชัดมากเท่าไรจะยิ่งดี ซึ่งมี 5 ประเด็นคือ (1) สถานที่ (2) ช่วงเวลา (3) สภาวะอารมณ์ (4) คนที่เกี่ยวข้อง (5) การกระทำก่อนหน้า

2.ระบุนิสัยในอดีต (สิ่งที่ต้องการจะเลิกทำ)

3.นิยามนิสัยใหม่ (สิ่งใหม่ที่ตั้งใจจะทำ)

คำถามหัวใจหลัก 7 ประการ Seven Essential Questions

การนำคำถามหลัก 7 ประการเหล่านี้ไปใช้ประกอบเครื่องมือในการบริหารที่มีในตัวของผู้บริหารหรือผู้เป็นโค้ช ก็เชื่อว่าจะสร้างผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต

1.คำถามจุดประกาย The Kickstart Question

เริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นเชื้อเชิญให้คนตอบค้นหาประเด็นสำคัญ เป็นการสร้างความไว้วางใจด้วยเช่น “คุณมีความในใจอะไร ที่อยากจะเล่าให้ฟังบ้าง”

2.คำถาม “มอม.” The AWE Question

เป็นการถามต่อเนื่องว่า “มีอะไรอีกไหม” (And What Else?) คำถามแบบนี้ควรถามมากกว่า 1 ครั้ง จะช่วยให้ได้คำตอบเป็นข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้น สามารถส่งผลกระทบให้ผู้ตอบมีทางเลือกและได้ตัดสินใจที่ได้ผลดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยยืดเวลาการสนทนาได้มากขึ้น

3.คำถามนำเข้าประเด็น The Focus Question

เป็นการกรองที่มาที่ไปให้กลายเป็นคำถามที่มีประโยชน์จากการถามกว้างๆ ว่า ปัญหาคืออะไร ไปสู่คำถาม “ปัญหาที่แท้จริง ที่คุณกำลังเผชิญ ตอนนี้ คืออะไร”

4.คำถามฐานราก The Foundation Question

ตัวอย่างคำถาม “คุณต้องการอะไร” หรือถามย้ำ “ว่าแต่อะไร คือสิ่งที่คุณต้องการอย่างแท้จริงกันแน่”

อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจ ความแตกต่างระหว่างคำวา “ความต้องการ” (want) เช่น อยากได้ของสิ่งนั้นและ ความจำเป็น (Need) เช่น ฉันต้องมีสิ่งนั้น ซึ่งล้ำลึกกว่า

5.คำถามสำหรับคนรักสบาย The Lasy Question

ด้วยคำถาม “จะให้ช่วยอย่างไรดี” คำถามนี้คุณสามารถตัดสินใจว่า อยากทำตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ขณะเดียวกัน คำถามนี้ก็คล้ายคำถามว่า “มีอะไรอีกไหม” ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนยังสนใจใคร่รู้ด้วยความห่วงใย

6.คำถามเชิงกลยุทธ์ The Strategie Question

ควรเริ่มต้นจากการขอให้อีกฝ่ายช่วยระบุให้ชัดว่า อะไรคือสิ่งที่เขาได้ตอบตกลง รวมทั้งช่วยรับปากว่าจะทำให้ได้ตามนั้น
อาจนำตัวแบบ 3 P3 มาเสริมเพื่อให้มองทุกมุมอย่างรอบคอบ คือ เนื้องาน (Project) ตัวบุคคล (Person) และแบบแผนพฤติกรรม (Pattern of Behavior)

7.คำถามเพื่อการเรียนรู้ The Learning Question

เป็นการปิดฉากการพูดคุยที่ทำให้คุณปรารถนาดีด้วยการถามว่า “ประโยชน์สูงสุดที่คุณได้รับจากเรื่องนี้คืออะไร” ซึ่งหมายถึงวงจรแห่งการแก้ปัญหาและการได้เรียนรู้


โดยภาพรวมมักมีวัตถุประสงค์อยู่ใน 2 ประเภทได้แก่
 
•การโค้ชเพื่อการสร้างผลงาน (Coaching for Performance)


เป็นการสนทนาเพื่อมุ่งสนใจต่อปัญหาหรือประเด็นท้าทายเฉพาะเรื่อง คล้ายการดับไฟ หรือใช้คำถามกระตุ้นสุมไฟความพยายามให้ลุกโชนสู่การเอาชนะอุปสรรค

•การโค้ชเพื่อการพัฒนา (Coaching for Development)

จะเปลี่ยนจุดเน้นที่ตัวปัญหาไปสู่ตัวบุคคลผู้รับผิดชอบปัญหานั้น ซึ่งต้องขอให้ก้าวออกมาเรียนรู้และปรับปรุง เพื่อเติบโตต่อไป

เคล็ดลับพื้นฐานสำคัญโค้ชที่ดี ก็คือ พยายามทำตัว “สงสัย ใคร่รู้” ให้ติดเป็นนิสัยมากขึ้นและรู้จักใช้คำถามที่กรุตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลดการ “แนะนำ” หรือ “สั่ง-สอน”

ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงศักยภาพของผู้ได้รับการโค้ชให้เกิดความตระหนักรู้และความมุ่งมั่นที่จะปรับพฤติกรรมหรือวิธีการให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าเดิมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคิดและความรู้สึก “เต็มใจทำเต็มที่”

ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ :
โค้ชชิ่ง แฮบิต
The Coaching Habit
ผู้เขียน ไมเคิล บันเกย์ สเตเนียร์
ผู้แปล วุฒินันท์ ชุมภู
สำนักพิมพ์ แอร์โรว์

 









แนะนำหนังสือ



คิดแบบ Bluefishing ชีวิตเนรมิตได้

ผู้แต่ง : Steve Sims (สตีฟ ซิมส์)
ผู้แปล : ชัชวนันท์ สันธิเดช
สำนักพิมพ์ : เชนจ์พลัส
ราคา : 179 บาท

คุณเคยมีไอเดียที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง ที่เป็นสิ่งที่คุณรู้สึกใช่สุดๆ แต่ก็ยังมีความกลัวทำให้ไม่กล้าลงมือทำไหม ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะทลายกำแพงเหล่านั้น ด้วยเคล็ดลับและแนวคิดที่สามารถทำได้จริง เป็นทักษะที่คุณสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต เพื่อทำให้สิ่งที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อมเกิดขึ้นได้ด้วยตัวคุณเอง



จงขอบคุณเมื่อโดดเดี่ยว ครบ 1,000 ครั้ง

แปลจากหนังสือ: 你的孤独,虽败犹荣
ผู้เขียน: Liu Tong
ผู้แปล: ชาญ ธนประกอบ
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น (WE LEARN)
ราคา 250 บาท

หนังสือเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘หลิวถง’ เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่มีฐานะปานกลาง ต้องเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และต้องต่อสู้กับความโดดเดี่ยวตามลำพัง ซึ่งเขาใช้ความโดดเดี่ยวที่ว่านี้เป็นพลังผลักดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จ จนในที่สุดเขาสามารถยืนบนจุดสูงสุดของวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ และวันนี้เขากลายเป็นนักเขียนและผู้นำทางความคิดที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อหนุ่มสาวชาวจีนยุคใหม่ทั้งประเทศ

มาหาคำตอบกันกับ 33 บทเรียนความโดดเดี่ยวจากหลิวถง ว่าความความโดดเดี่ยวที่ว่านี้เป็นบทเรียนล้ำค่าอะไรให้กับเขาบ้าง และทำไมคุณถึงควรขอบคุณเมื่อโดดเดี่ยวครบ 1,000 ครั้ง?



เปิดจินตนาการ ปลดปล่อยศักยภาพที่เหนือกว่าให้โลกรู้

ผู้เขียน Brian Reick (ไบรอัน ริช)
ผู้แปล กิตติกานต์ อิศระ
สำนักพิมพ์ : เชนจ์พลัส
ราคา 270 บาท

เป็นหนังสือที่การันตีคุณภาพด้วยการถูกแปลไปแล้วกว่า 6 ภาษาทั่วโลก โดยผู้เขียนอยากบอกว่าเราต้องใช้จินตนาการของเราทำความเข้าใจโลก และจัดการกับความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหากไม่ใช้จินตนาการให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากจินตนาการทำให้โลกนี้เปลี่ยนจากยุคหิน สู่โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี

ดังนั้น ‘เลิกคิดแค่ในกรอบ จงจิตนาการถึงสิ่งใหม่ที่ดีเกินกว่าใครจะคาดถึง’ปลดปล่อยมันออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทั้งต่อตัวเราเอง สังคมรอบข้าง ธุรกิจ ไปจนถึงปัญหาที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่



FACTFULNESS จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน

ผู้เขียน : ฮันส์ โรสลิง ร่วมกับโอล โรสลิง และอันนา เรินน์ลุนด์
ผู้แปล : นายแพทย์นที สาครยุทธเดช
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ How to (Amarin)
ราคา : 345 บาท

…เป็นหนังสือที่ ‘บิล เกตส์’ ซื้อแจกนักศึกษาจบใหม่ทุกคนในประเทศสหรัฐอเมริกา

…เป็นหนังสือที่ ‘บิล เกตส์’ ยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา ซึ่งเขาเคยพูดถึงหนังสือเล่มนี้ใน TED Talks : How not to be ignorant about the world

…และเป็นหนังสือที่ถูกแปลไปแล้วกว่า 36 ภาษา ขายไปแล้วกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก
หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเข้าใจความจริงของโลกอย่างที่เป็นจริง และมีมุมมองต่อโลกไปในทางที่ดีขึ้น พร้อมทั้งจะทำให้คุณปราบ 10 สัญชาตญาณจอมลวงที่ทำให้คุณเข้าใจโลกใบนี้ผิดมาโดยตลอด และมองไม่เห็นคุณค่าที่โลกหยิบยื่นให้ ทั้งนี้ก็เพื่อปลดแอกตัวเองจากความหวาดวิตกอันไร้เหตุผล หันมารับมือกับโลก เพื่อนมนุษย์ ใช้ชีวิต อย่างถูกต้องและมีความสุข



Presence รู้ตัวตน ชนะทุกอุปสรรค

ผู้เขียน Amy Cuddy (เอมี่ คัดดี้)
ผู้แปล รัชยา เรืองศรี
สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์
ราคา : 380 บาท

"Amy Cuddy" นักจิตวิทยาสังคมชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เคยสร้างปรากฏการณ์คนแห่ชมวิดีโอสูงถึง 16 ล้านวิวผ่านช่องแชนแนลของ TED Talk เธอถ่ายทอดเทคนิคและประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้แก่ผู้ฟัง

นอกจากนี้ยังนำความรู้เรื่องภาษากายมาใช้วิเคราะห์ผนวกกับจิตวิทยา เช่น ผลวิจัยระบุว่า หากคุณนั่งก้มหน้าและห่อไหล่ คนอื่นจะมองว่าคุณไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองและไร้อำนาจในการต่อรอง ไม่เหมาะที่จะร่วมงานโปรเจกต์ใหญ่ด้วย แต่ลักษณะท่าทางหรือภาษากายสามารถแก้ไขได้

หากคุณรู้จักนำเทคนิคที่ถูกต้องมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งทุกเคล็ดลับนั้นจะถูกรวบรวมไว้ใน "Presence รู้ตัวตน ชนะทุกอุปสรรค" เล่มนี้นั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น