นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด และยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก
โดยกลุ่มที่รับเชื้อได้ง่าย คือ เด็กจะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ซึ่งในห้องที่ทึบอับแสงนั้น เชื้อนั้นสามารถอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์เลยทีเดียว ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดด แต่อาจจะอยู่ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน แพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้จากการตรวจเสมหะ และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเคยติดเชื้อตอนเป็นเด็ก
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่ สัมผัสผู้ติดเชื้อทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ติดยาเสพติด และโรคขาดสารอาหาร โดยสัญญาณอันตรายของโรคนี้มีปัจจัย คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์, น้ำหนักลด, เบื่ออาหาร และเหงื่อออกตอนกลางคืน
อย่างไรก็ตาม วัณโรคนั้นมียารักษาให้หายขาด และที่สำคัญจะได้ผลดีถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน รวมไปถึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้ามีอาการตามสัญญาณอันตราย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน