xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ฝุ่นมรณะ” ก่อนสุขภาพจะถูกทำร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันว่า PM2.5 หนาปกคลุมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งทางตรง และทางอ้อมได้

ทำความรู้จักฝุ่นละอองให้มากขึ้น

ฝุ่นละออง คือ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เกิดจากวัตถุที่ถูกทุบ ตี บด กระแทก จนแตกออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เมื่อถูกกระแสลมพัดก็จะปลิวกระจายตัวอยู่ในอากาศ และตกลงสู่พื้น ซึ่งเวลาในการตกจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับน้ำหนักของอนุภาคฝุ่น แหล่งกำเนิดของฝุ่นจะแสดงถึงคุณสมบัติความเป็นพิษของฝุ่นด้วย เช่น ตะกั่ว ไฮโดรคาร์บอน กัมมันตรังสี แอสเบสตอส

ฝุ่นละออง แบ่งออกเป็น


-ฝุ่นขนาดใหญ่ (มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา)

-ฝุ่นขนาดเล็ก เรียกว่า PM 10 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา

-ส่วนฝุ่นละอองที่กรุงเทพมหานครเผชิญอยู่นั้น เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เทียบขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ และขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ เป็นอนุภาคที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มากที่สุด โดยเมื่อสูดดมอนุภาคเข้าไปสามารถเข้าไปลึกถึงทางเดินหายใจและในปอดได้ ฝุ่นละอองชนิดนี้เกิดจากการคมนาคมการขนส่ง การอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง ฯลฯ

แหล่งที่มีของฝุ่นละอองในบรรยากาศ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Particle) ได้แก่ ดิน ทราย หิน ละอองไอน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า และฝุ่นเกลือจากทะเล เป็นต้น

2. ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Particle) ได้แก่


- ฝุ่นจากการคมนาคมขนส่งและการจราจร เช่น ฝุ่นดินทรายที่ฟุ้งกระจายในถนน ขณะที่รถยนต์วิ่งผ่าน ฝุ่นดินทรายที่หล่นจากการบรรทุกขนส่ง การกองวัสดุสิ่งของบนทางเท้าหรือบนเส้นทางการจราจร
- ฝุ่นจากการก่อสร้าง เช่น ฝุ่นจากการสร้างถนน/อาคาร การปรับปรุงผิวการจราจร การรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ การก่อสร้างเพื่อติดตั้งหรือปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค
- ฝุ่นจากการประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การทำปูนซีเมนต์ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับหิน กรวด ทราย หรือดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่ง การโม่บดหรือย่อยหิน การร่อนหรือการคัดกรวดหรือทราย
- ฝุ่นจากการประกอบกิจกรรม อื่นๆ เช่น การทำความสะอาด การทำอาหาร การทาสี เป็นต้น

ฝุ่นละอองขนาดเล็กกับสุขภาพ

มีรายงานจากกรมอนามัย ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย 4 ระบบ ได้แก่

1. ระบบตา โดยทำให้เกิดการระคายเคือง ตาแดง แสบตา ตาอักเสบ
2. ระบบผิวหนัง ทำให้เกิดระคายเคือง ผื่น คันผิวหนัง
3. ระบบทางเดินหายใจ โดยระคายเคืองเยื่อบุจมูก แสบจมูก ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ โดยเฉพาะโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอักเสบ และถุงลมโป่งพอง 
4. ระบบหลอดเลือดและหัวใจ โดยอาจจะทำให้แน่นหน้าอก หายใจถี่ เมื่อยล้า สั่นผิดปกติ อาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย เส้นเลือดในสมองตีบ

กลุ่มใดบ้างที่มีภาวะความเสี่ยงสูง?

-เด็ก เนื่องจากเด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้าน ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กในวัยเรียน นอกจากนี้แล้วเด็กยังมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงอื่นๆ มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้กำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อระดับมลพิษสูง

-หญิงมีครรภ์  เพราะการเผชิญกับมลพิษในอากาศจากฝุ่นละอองในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกันกับการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ และความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรและอัตราการตายของทารกเพิ่มขึ้น

-ผู้สูงวัย  เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุมักจะอ่อนแอลง และร่างกายมักจะมีความสามารถน้อยลงที่จะรับมือกับมลพิษในอากาศ อีกทั้งผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยซึ่งกำเริบขึ้นเนื่องจากมลพิษในอากาศ

-ผู้ที่เป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากอนุภาคฝุ่นละอองสามารถทำให้สภาวะโรคที่มีอยู่ก่อนหน้านี้กำเริบขึ้นได้

วิธีรับมือกับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน

-ลดกิจกรรมนอกบ้าน ลดกิจกรรมกลางแจ้ง
-อยู่ภายในอาคารเมื่อระดับมลพิษสูง
-ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร โดยปิดหน้าต่างให้หมดในช่วงมลพิษสูง ปรับเครื่องปรับอากาศให้ใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนที่จะดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา คอยดูแลให้บริเวณแวดล้อมบ้านปราศจากควัน และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่มีการเผาไหม้ เช่น เทียน การปิ้งย่าง หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำให้เกิดควัน
-สวมหน้ากากอนามัยป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสม โดยหน้ากากมาตรฐาน N95 จะสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ แต่หน้ากากเหล่านี้จะใช้การได้ดีก็ต่อเมื่อสวมอย่างถูกต้องด้วย ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 3 ไมครอนได้ แต่ป้องกัน PM 2.5 ไม่ได้
-สังเกตอาการว่ามีสุขภาพแย่ลงหรือไม่ เช่น มีการหายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ หรือไอรุนแรง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งถึงปัญหาที่มีสาเหตุเกี่ยวกับสภาพปอดหรือการทำงานของปอด ควรรีบปรึกษาแพทย์

ข้อมูลประกอบบางส่วน :
ศูนย์โรคปอด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi4/fun/fun.htm
http://www.pcd.go.th



กำลังโหลดความคิดเห็น