xs
xsm
sm
md
lg

ยาแก้ปวด มีประโยชน์ แต่ก็โทษมหันต์ อันตรายถึงไตวาย ตายไว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

BY: Pharmchompoo
เรื่องปวด ๆ เมื่อย ๆ เป็นอาการสามัญที่เป็นและพบกันได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเสื่อมถอยของอวัยวะรับน้ำหนักโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่อง ข้อต่อ กระดูกสันหลัง สะโพก หัวเข่า ที่มีการปวด บวม อักเสบ จึงเป็นเรื่องธรรมดาและจะยิ่งพบมากในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน

เมื่อมีอาการปวดเมื่อย หลายคนนึกถึง “ยาแก้อักเสบ” หรือแท้จริงแล้วต้องเรียกว่า “ยาลดการปวดอักเสบ” (anti-inflammatory) ถ้าเรียกเต็มยศจริง ๆ คือ “ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์” (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ซึ่งมีมากมายหลายสิบชนิด ทั้งในรูปยากิน ยาทาภายนอก หรือยาฉีด ราคาก็มีตั้งแต่ไม่กี่บาท จนเกือบทะลุหลักร้อย ซึ่งสรรพคุณไม่ต่างกันมากเลยคือ ยับยั้งการสังเคราะห์สารเคมีบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ไม่ให้กระบวนการอักเสบลามปามไปมาก

การใช้ยาเหล่านี้เหมาะสมสำหรับพยาธิสภาพที่มีการ “อักเสบ” อย่างแท้จริง โดยส่วนใหญ่เป็นโรคทางข้อ เช่น เป็นยาเสริมสำหรับการอักเสบที่กำเริบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) หรือการอักเสบของกระดูกสันหลัง (spine) แบบเรื้อรัง เช่น Ankylosing Spondylitis

ในกรณีที่พบบ่อยและแทบจะเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของปัญหาอาการแทรกซ้อนจากการใช้ยา NSAIDs แบบไม่ถูกวิธีคือ ใช้ยา NSAIDs ในภาวะที่ไม่ได้มีอาการอักเสบอย่างแท้จริง เช่น ปวดเข่าธรรมดา จากภาวะข้อเสื่อม ก็ใช้ NSAIDs หรือปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก แบกหามมากเกิน เคล็ด ขัดยอกจากการทำงานผิดท่า แทนที่จะใช้ยานวดแบบเฉพาะที่ หรือนวดไทย ก็เลือกที่จะกินยา NSAIDs (ยุคหนึ่งในอดีตหลายคนอาจจำได้ที่ผู้ใช้แรงงานมีการติดยาแก้ปวดชนิดหนึ่งอย่างมาก ถ้าไม่กินจะไม่สบายตัว ทำงานไม่ได้ เหมือนติดเครื่องดื่มชูกำลัง) ซึ่งได้เคยกล่าวไปในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า NSAIDs ส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นผลกระทบในระยะยาว ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว

กรณีที่เราพบกันบ่อยมากคือ กินยาแก้ปวดจนเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะทะลุ อันเนื่องมาจาก NSAIDs ไปลด “กลไกป้องกันตัว” (defensive mechanisms) ของทางเดินอาหาร เช่น ทำให้เมือกที่เคลือบทางเดินอาหารบางลง มีผลต่อการหลั่งไบคาร์บอเนต ฯลฯ เหล่านี้เมื่อเกิดนาน ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารในที่สุด

ผลกระทบอีกอันที่อาจไม่เห็นทันที แต่เมื่อเกิดแล้ว อาจไม่ย้อนกลับคืนคือภาวะไตเสื่อมจากยา NSAIDs (NSAIDs-induced nephropathy) เนื่องจาก NSAIDs มีผลลดปริมาณเลือดไปเลี้ยงที่ไต จึงส่งผลต่อการทำหน้าที่ของไต การกิน NSAIDs ไปนาน ค่าการทำงานของไตจะลดลง (สะท้อนด้วยค่า GFR ที่ลดลง แต่ค่า serum creatinine หรือ BUN จะเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้ NSAIDs บางชนิดยังเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ด้วย หลายคนที่กินยา NSAIDs มาเป็นเวลานาน ๆ อาจมีปัญหาไตเสื่อม ไตวาย ตามมาภายหลังได้

ผลกระทบอีกประการที่มักมองข้ามคือเรื่องหัวใจ โดยเฉพาะยาในกลุ่ม COX-2 specific NSAIDs ที่มีอาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ทำให้ความดันเลือดสูง และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) ดังนั้น จึงมีคำเตือนพิเศษใน COX-2 specific NSAIDs ให้ระวังการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง บวมน้ำอยู่เดิม

ดังนั้น การใช้ยากลุ่ม NSAIDs จึงควรใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ติดต่อกันนานเกิน หรือใช้พร่ำเพรื่อ เพื่อลดความเสี่ยงจากพิษของยา
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น