xs
xsm
sm
md
lg

“วิ่ง” เปลี่ยนชีวิต!! “ณัฐพล เสมสุวรรณ” มะเร็งเลือกเขา แต่เขาเลือกสู้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากคนที่เคยแข็งแรงระดับนักกีฬา แต่วันหนึ่งโชคชะตากลับเล่นตลก เลือกให้เขาเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง “สตีเวน จอห์นสัน” (Steven Johnson syndrome) จนทำเอาชีวิตเกือบพัง! และวันนี้เขากลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง เพราะกล้าที่จะก้าวออกมา “วิ่ง”

“แซม-ณัฐพล เสมสุวรรณ” อดีตผู้ป่วยที่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเคยเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งจนครั้งหนึ่งต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่หนำซ้ำพอกลับมาเดินได้ ความโชคร้ายก็มาเยือนอีกครั้ง เมื่อเขาต้องลงแข่งอีกหนึ่งสนามกับโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง “สตีเว่น จอห์นสัน” ที่ 1 ล้านคนมีอัตราการพบได้เพียง 7 คนเท่านั้น

ทว่าด้วยกำลังใจและแรงบันดาลใจ ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง สามารถหล่อเลี้ยงและชุบชีวิตให้วันหนึ่งเขากล้าที่จะก้าวออกมา “วิ่ง” กระทั่งตอนนี้ก็เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีมาแล้ว ที่เขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง!

จาก “นักกีฬา” สู่ "ผู้ป่วยมะเร็ง"
เมื่อโรคร้ายเลือก “ผม” แล้ว

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นวัยรุ่นที่แข็งแรงนะ ตั้งแต่เด็กเราเป็นนักกีฬามาตลอด เล่นทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ แล้วตอนมัธยมปลายผมเป็นนักมวยไทย เล่นเป็นอาชีพด้วย ซึ่งการเล่นกีฬาต่างๆ นี้มันทำให้ร่างกายเราแข็งแรงมากๆ เราไม่เคยเจ็บป่วยเลยตั้งแต่เกิดมา

“พอช่วงมหาวิทยาลัย ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่บ้าน ต้องใช้ชีวิตอยู่หอพัก ซึ่งยอมรับว่าตอนนั้นผมชอบเที่ยว ชอบปาร์ตี้ ดื่มเหล้าเป็นประจำแทบทุกวัน พอใช้ชีวิตแบบนั้นไปสักพัก ผมก็เริ่มเป็นไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน แต่เราก็เข้าใจไปเองว่ามันเกิดจากอาการพักผ่อนน้อย เพราะเราดื่มเหล้าหนัก คิดแค่ว่าคงเป็นไข้หวัดธรรมดา เดี๋ยวก็หาย ผมกินยาพาราเซตามอลทุกวัน กินยาเข้าไปมันก็หายนะ เราก็เลยคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไรหนัก ก็กินอยู่แบบนั้น 3 เดือน

“ระหว่างที่ป่วยผมก็ได้กลับมาอยู่บ้าน อยู่ได้ประมาณ 3 วัน แม่เห็นว่าผมเป็นไข้ทุกวันเลย น่าจะไม่ปกติแล้ว ก็เลยพาไปโรงพยาบาล เจาะเลือดดู หมอก็พบว่าเลือดเราผิดปกติ ค่าเม็ดเลือดสูงกว่าปกติ ตอนนั้นคุณหมอก็เลยให้เจาะไขกระดูกเพิ่ม สุดท้ายผลตรวจออกมาปรากฏว่าเราเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งน่าจะเทียบเท่ากับระยะ 4 ได้ครับ และขณะนั้นผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 จะขึ้นปี 3 เลยทำให้ต้องดรอปเรียนไป เนื่องจากคุณหมอบอกว่าเวลารับยาภูมิคุ้มกันจะต่ำ เราไม่สามารถให้เคมีบำบัดไปด้วยและเรียนไปด้วยได้

“ตอนแรกผมไม่เชื่อนะว่าตัวเองจะเป็นโรคมะเร็ง แต่พอผลออกมาว่าเป็นมะเร็ง ใจหนึ่งเราก็ตกใจนะ แต่อีกใจหนึ่ง เราก็คิดว่าน่าจะหายได้ เพราะเราเชื่อในความแข็งแรงของร่างกายตัวเอง ยาน่าจะทำอะไรเราไม่ได้ ผมน่าจะไม่ร่วง ผลข้างเคียงคงจะไม่มีอะไรมาก

“ผมเริ่มรักษาโดยการให้เคมีบำบัด และฉายแสง ฉายรังสี เพื่อกันไม่ให้ลามขึ้นสมอง ตอนแรกที่ให้เคมีบำบัดผมไม่เป็นอะไรเลยนะครับ พอไม่เป็นอะไร เราก็ต้องรับยาหนักขึ้นเพื่อให้เซลล์มะเร็งสงบ และน่าจะประมาณเข็มที่ 6-7 ผมมีอาการแพ้ยา คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง จนต้องโกนผมทิ้ง หลังจากที่โกนหัวครั้งแรก มันทำให้เรามีความรู้สึกแล้วว่าตัวเองโชคร้าย และวันนั้นคือวันที่ผมยอมรับแล้วว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งจริงๆ”

แต่…ความโชคร้ายยังไม่จางหาย
วันหนึ่งต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ตายก็เหมือนตายทั้งเป็น

“พอให้เคมีบำบัดได้ประมาณ 5-6 เดือน ผมก็มาเป็นหนักอีกครั้ง ตอนที่ปลูกถ่ายไขกระดูกครับ ซึ่งการปลูกถ่ายไขกระดูกคือการล้างเซลล์เก่าทั้งหมดออก แล้วเอาเซลล์ใหม่เข้าไป ตอนช่วงที่ปลูกถ่ายไขกระดูก ผมกินอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ดื่มน้ำเข้าไปอึกเดียวก็อาเจียน อาเจียนจนไม่มีอะไรจะอาเจียน มีแต่น้ำเหลืองออกมา คือตื่นมาเราจะอาเจียนตลอดเวลา จะเจอกับอาการเจ็บปวดตามข้อกระดูก ตามกล้ามเนื้อ เจ็บปวดไปทั้งตัว ขยับร่างกายก็ไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เรียกได้ว่าทรมานที่สุดในชีวิตแล้วครับ

“พอเราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราก็เริ่มมีความคิดแล้วว่าตัวเองเป็นภาระของครอบครัว เพราะครอบครัวต้องทิ้งทุกอย่างมาเพื่อผม ด้วยความที่เราเบิกอะไรไม่ได้เลย ปลูกถ่ายไขกระดูกใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก คุณแม่ก็ต้องขายบ้าน ซึ่งท่านเป็นคุณครูก็ต้องสอนพิเศษเพิ่ม แล้วต้องมาดูแลเราตลอดเวลา ท่านเหนื่อยเพื่อเรามากๆ ผมเลยคิดว่าเราไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว

“อีกอย่าง ด้วยภาพลักษณ์ของผมที่เปลี่ยนไป ทั้งผอม ทั้งดำ แล้วถ้ามะเร็งหมดไปแล้ว ต้องนอนเป็นผักเป็นปลาอยู่แบบนี้ เราจะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร เราจะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนเดิมหรือเปล่า เรากลัวว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งเวลาคุณหมอมาตรวจผมจะไม่คุยกับคุณหมอเลยนะครับ ผมรู้สึกว่าอยากตายแล้ว มันทรมาน ทำไมคุณหมอถึงมาวุ่นวายกับเราจังเลย แต่ผมก็ได้แต่คิดเฉยๆ ไม่ได้อยากฆ่าตัวตายอะไรนะครับ เพราะถึงไม่ฆ่าตัวตายมันก็เหมือนตายทั้งเป็นอยู่แล้ว

“คือทุกครั้งที่รับเคมีบำบัด มันไม่ได้หมายความว่าเราจะดีขึ้น เราต้องเจอกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่ใช่ว่าใส่ยาไปแล้วจะหาย แต่มันจะ 50-50 ซึ่งโรคนี้ไม่เหมือนโรคอื่นๆ มันไม่มีระยะเวลาการหาย ไม่เหมือนแผล ไม่เหมือนการใส่เฝือกที่รู้ว่าต้องใส่กี่วันถึงจะต้องถอดออก ไม่เหมือนเป็นไข้ที่กินยาไม่กี่วันก็หาย ก็ฟื้น แต่มะเร็งคือถ้าให้ยาแล้วต้องรอดูอาการ ซึ่งคำว่ารอดูอาการมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง แต่ละคนไม่เหมือนกัน และการปลูกถ่ายไขกระดูกก็มีความเสี่ยง คนที่ผมรู้จักเขาเป็นโรคนี้ก็เสียชีวิตกันเยอะ เราคิดว่าเราก็คงเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เพราะเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ผมต้องเผชิญกับโรคนี้ ยายังไม่ได้ดีเท่าปัจจุบันนี้ แต่ท้ายที่สุดมันก็สามารถผ่านมาได้ ผมใช้เวลารักษาอยู่ 8 เดือนถึงกลับมาเดินได้ครับ

ต่อสู้สนามแรกผ่านพ้นไป ก้าวสู่สนามที่สอง
ถูกเลือกจาก 7 คนใน 1 ล้าน ให้เป็นโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง

หลังจากนั้นผมก็ออกมาจากโรงพยาบาล ตอนนั้นมะเร็งผมหายไปแล้วนะครับ แต่ร่างกายยังฟื้นได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ เลยทำให้ผมมาเป็นโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง “สตีเวน จอห์นสัน” (Steven Johnson syndrome) ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่เป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่อัตราการเจอโรคนี้พบได้น้อยมาก 1 ล้านคน จะเจอแค่ 7 คน เท่านั้นเองครับ แล้วมันดันมาเป็นผมอีกแล้ว

“ตอนนั้นจำได้ว่าผมกินอาหารแล้วก็กินยา พอกินไปสักพัก ตัวก็เริ่มร้อน ตัวบวม ตาบวม หน้าบวม ผิวเริ่มไหม้ แต่ว่ายังโชคดีที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เลยสามารถไปหาหมอได้ภายใน 15 นาที ซึ่งคุณหมอก็ฉีดยาระงับอาการให้ เราเลยไม่เป็นอะไรมาก แต่มันก็ทำให้ผิวไหม้ดำ ไม่มีน้ำตา ไม่มีน้ำลาย ปากแข็ง ลิ้นแข็ง ตัวตึงไปหมดมาจนถึงทุกวันนี้

“ทำไมต้องวนมาเป็นเราด้วยวะ” ความคิดนี้มันวนเวียนในหัว คือที่แย่กว่าการแพ้ยาก็คือรูปลักษณ์เราแย่มาก แย่กว่าตอนที่เป็นมะเร็งอีกนะครับ เราดำมาก ดำเหมือนศพที่ตายไปแล้วแต่แค่ขยับได้เฉยๆ มันแย่จนผมไม่กล้าออกไปไหน เพราะแต่ละครั้งที่ออกไป เราจะเจอฟีดแบ็คกลับมาทุกครั้ง อย่างเวลาออกไปข้างนอก ทุกคนมองมาที่เราแล้วสะกิดกัน ถ้าเป็นผู้หญิงนั่งอยู่แล้วเราเดินไปใกล้ เขาเก็บกระเป๋าหนีเลยนะครับ เขาคงกลัวว่าผมจะเป็นโจร เป็นคนติดยา เป็นวัณโรคอะไรทำนองนั้น

“หรือมีครั้งหนึ่งที่ผมไปกินข้าวกับคุณแม่ ครั้งนี้ทำให้คุณแม่ร้องไห้เลยนะครับ คือผมนั่งอยู่กับคุณแม่ แล้วมีคนเข้ามานั่งด้วย เขาไม่เห็นผม แต่พอเขาเห็นผมปุ๊บ เขารีบลุกออกไปทันที ตอนนั้นผมก็ร้องไห้ แล้วบอกกับคุณแม่ว่ากลับบ้านเถอะ ไม่อยากอยู่แล้ว แม่ก็สงสาร ก็ร้องไห้ไปกับเรา และที่หนักมากๆ เลยก็คือมีวันนั้นเป็นวันที่ผมไปร้านค้า มีเด็กคนหนึ่งเขากำลังเลือกขนมอยู่ แล้วจังหวะที่เขาเดินมาเจอผม ก็ร้องไห้ และวิ่งไปหาคุณพ่อทันที ตอนนั้นคุณพ่อเขาก็มองเราด้วยสายตาที่เหยียดหยามมากๆ ทุกคนที่เห็นเด็กร้องไห้เขาก็เข้าใจว่าเราไปทำอะไรน้องเขาหรือเปล่า ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย

“ตอนนั้นผมเลยรู้สึกว่าเราเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม ทั้งๆ ที่เราเป็นแค่คนหนึ่งที่โชคร้าย น้ำตามันตกในนะ เขาไม่รู้เลยว่าผมผ่านอะไรมาบ้าง กว่าที่ผมจะลุกขึ้นมายืนได้ ทำไมผมต้องมาเจอการตัดสินอะไรแบบนี้ด้วย ผมไม่เคยเจออะไรเป็นแบบนี้มาก่อน แต่ก่อนเราเคยเป็นคนที่สังคมยอมรับด้วยซ้ำไป เราเคยมีรูปร่างดี หน้าตาค่อนข้างดี มีฐานะ ไปร้านอาหารที่ไหนคนก็ต้อนรับอย่างดี ซึ่งผมก็ไม่เคยนึกถึงเลยนะว่าคนที่เขามีรูปร่างแบบเรา ณ วันนี้เขาจะรู้สึกยังไง แต่วันนี้ผมรู้ซึ้งเลย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่กล้าออกไปไหนเลย

“ช่วงที่ผมแพ้ยามันส่งผลกระทบต่อจิตใจมากๆ เลยนะ เราชนะมาแล้ว 1 สนาม ทำไมเราต้องมาเจออีกสนาม คือโรคมะเร็งมันอาจจะฆ่าเราทางร่างกายก็จริง แต่พอเรามาแพ้ยาอีก มันกลับฆ่าเราทางจิตใจไปด้วย มันทำให้เราหายใจร่วมกับคนอื่นไม่ได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าเราให้ตายทั้งเป็น แต่พออารมณ์หายต่างๆ ที่มีในใจมันค่อยๆ จางไป เราก็มาตกตะกอนทางความคิด ผมได้มาค้นพบว่าจริงๆ แล้วปัญหาก็คือปัญหา ที่มันยากเพราะเรารู้สึกกับมัน เราต้องมองจากความเป็นจริงมากกว่าความคิดเรา ซึ่งถ้าผมอยากเป็นเหมือนคนปกติ ผมไปจมอยู่แต่ในห้องรอวันที่จะเป็นเหมือนเดิม มันเป็นไปไม่ได้ ผมก็ต้องเจอกับความทุกข์ แต่ถ้าผมคิดว่าเราเป็นแบบนี้ เราจะดำเนินชีวิตต่อไปยังไง มันง่ายกว่า ผมจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง”

กลับมามีชีวิตใหม่ได้
เพราะกล้าที่จะก้าวออกมา “วิ่ง”

“ตอนนี้ทั้งสองโรคก็สงบแล้วครับ แต่ผลพวงจากโรคแพ้ยาที่เราได้รับก็ยังอยู่ มันไม่มีทางหาย เรายังมีอาการผิดปกติอยู่ เพราะเซลล์ทุกอย่างที่ตายจากการลุกลามมันฟื้นไม่ได้ ผิวกลับไปดีเหมือนเดิมไม่ได้ ตาก็จะไม่มีน้ำตาตลอดไป น้ำลายก็เช่นกัน เรากินเผ็ดไม่ได้ ทุกอย่างบอบบางไปหมด ดังนั้น การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไป ปัจจัยในการดำรงชีวิตของเราก็เปลี่ยนไป ผมต้องเรียนรู้ชีวิตใหม่ทั้งหมด

“คนที่มาปลุกแรงบันดาลใจของผมในวันนั้นก็คือพี่ตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) ครับ ซึ่งผมต้องขอบคุณพี่ตูนจริงๆ ที่ทำให้ผมมีแรงฮึดที่จะไปต่อ วันนั้นพี่ตูนวิ่งถึงโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์พอดี และสิ่งที่พี่ตูนพูดก็เปลี่ยนผมไปตลอดกาล

“ผมได้ยินพี่ตูนพูดว่า “อยากให้คนไทยแข็งแรง ให้ดูแลสุขภาพ” ซึ่งประโยคนี้ ทำให้ผมบอกกับตัวเองว่า เราทุกคนอยากแข็งแรง แต่เราเคยพยายามที่จะแข็งแรงหรือเปล่า คือผมป่วยมา 10 กว่าปี แต่ผมไม่เคยพยายามที่จะออกกำลังกายเลย เราคิดแต่ว่าเรายังไม่หาย เรายังอ่อนแออยู่ แต่เราไม่เคยใช้ความพยายามที่จะแข็งแรงเลย แล้วเมื่อไหร่เราจะแข็งแรงล่ะ ซึ่งผมก็ได้คำตอบให้กับตัวเองว่าคำว่า “แข็งแรง” มันไม่มีทางเดินเข้ามาหาเรา เราสิที่ต้องเดินเข้าไปหามัน ครั้งนั้น ผมเลยตัดสินใจลุกขึ้นออกมา “ก้าว”

“ครั้งแรกที่ออกมา อย่าเรียกว่าวิ่งเลยครับ เพราะเราเดินไปได้แค่ 20 เมตร ก็หมดแรงแล้ว ขาสั่น ตามัว ปากเป็นตะคริว หัวใจเต้นแรงมาก เลือดไหลเต็มหน้าอกไปหมด เพราะผลพวงทั้งหมดมันมาจากเคมีบำบัด ซึ่งพอคุณแม่เห็นก็รีบเข้ามาพยุง ครั้งนั้นมันทำให้ผมร้องไห้เหมือนเดิม ทำไมเราคิดดีแล้ว พยายามแล้ว แต่มันเหนื่อย มันยากจัง มันยากกว่าคนปกติที่เขาเริ่มวิ่งมากๆ เลยนะครับ

“วันต่อมาผมก็เลยไปอีก เอาใหม่ ก็เกิดอาการแบบเดิม ทุกอย่างก็ยังยากเหมือนเดิม ถามว่าท้อไหม มันท้อทุกวันนะครับ ทุกวันเราต้องใช้ใจที่กล้ามากๆ เพราะรู้ว่าต้องออกไปเจ็บ ทุกคืนต้องเป็นตะคริว เพราะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อมานาน มันทรมานมากๆ แต่ผมก็มานั่งคิดว่าถ้าผมท้อ ผมล้มเลิกไป มันจะไม่มีทางไปถึงเส้นชัยได้เลย ผมเลยเลือกที่จะทำต่อไป

“จากตอนแรกฝึก 20 เมตร ผมก็เริ่มเพิ่มระยะขึ้นเป็น 25 เมตร 30 เมตร ขึ้นไปเรื่อยๆ เราค่อยๆ ไปตามที่กำลังเราจะทำได้ และความพยายามของผมก็สำเร็จ ผ่านไป 3-4 เดือนนับจากวันที่ออกวิ่ง ผมก็สามารถไปสู่สนาม 10 กิโลเมตรแรกในชีวิต

ผลลัพธ์ที่ได้จากการ “วิ่ง”
ทำชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปตั้งแต่วันนั้น เพราะ 10 กิโลเมตรแรกมันเป็นระยะทางที่มีความหมายมาก มันทำให้เราก้าวข้ามอดีต ก้าวข้ามรอยน้ำตา เหยียบตัวเองที่อ่อนแอก้าวไปหาตัวเองที่แข็งแรง ก้าวไปหาความมั่นใจที่เคยหล่นหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าวันนั้นผมหยุดไว้ที่ความคิดที่ว่าเราทำไม่ได้ ผมคงไม่สามารถก้าวไปได้ไกลกว่านั้นได้เลย

“พอวิ่งได้ 10 กิโลเมตรแรก ผมก็ฝึกมาเรื่อยๆ เราเชื่อแล้วว่าตัวเองมีศักยภาพที่สามารถไปได้ไกลกว่าเดิม และมันก็เป็นจริงเช่นนั้น ผมสามารถลงวิ่งในสนาม 21 กิโลเมตรสนามแรกได้โดยใช้เวลาฝึกฝนอยู่ประมาณ 5-6 เดือน โดยมีคนโปรช่วยจัดตารางซ้อมวิ่งให้ จนตอนนี้ผมวิ่งประจำ สัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 10 กิโลเมตร วิ่งมาได้เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วครับ

“การวิ่งมันทำให้ผมแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณดีขึ้น กินได้มากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้มากขึ้น สิ่งนี้มันทำให้เราอยากไปต่อ อีกอย่างการวิ่งมันช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้นนะ มันสอนให้อดทน พยายาม มีวินัยกับตัวเอง และพัฒนาตัวเอง ถ้าวันนั้นผมล้มเลิก เราคงไม่มีทางมาวิ่งกลางแสงแดด สูดอากาศ ดูธรรมชาติได้เลย เราจะเป็นเพียงแค่ผู้ป่วยที่นอนอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีชีวิต มีแค่ลมหายใจ

“ส่วนเป้าหมายการวิ่งต่อไป ผมอยากจะไปฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตรครับ จริงๆ ใจผมก็อยากจะไปถึงไตรกีฬานะ ซึ่งสิ่งที่ผมทำผมไม่ได้อยากจะทำเพื่อตัวเอง แต่ผมอยากทำเพื่อให้คนป่วยเห็นว่าผมทำได้ เพื่อให้เขามีกำลังใจ เอาจริงๆ คนที่เป็นมะเร็งแล้วมีสภาพแบบผมยังไม่เคยมีใครที่จะออกมาวิ่งได้ คือส่วนมากเขาเป็นแล้วหาย หายของเขาคือมีสภาพร่างกายปกติเลย ดูไม่รู้เลยว่าเคยเป็นมะเร็ง แต่ของผมคือคนป่วยที่ลุกขึ้นมาวิ่งได้ ผมไม่ใช่คนที่ผ่านเคมีบำบัด 5-6 ครั้งแล้วก็หาย ผมผ่านมา 36 ครั้ง ผมคือคนที่แย่กว่าเขา ผมยังทำได้เลย เขาก็ต้องทำได้

“ทุกวันนี้มีคนออกมาวิ่งตามผม มีคนที่สัญญาว่าเขาจะหายแล้วออกมาวิ่งด้วยกัน บางคนปกติดี แต่ก็เลิกเหล้า เลิกบุหรี่แล้วออกมาวิ่ง จากคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อนก็ชวนครอบครัวออกมาวิ่งด้วยกัน หรือมีครอบครัวหนึ่งไม่ได้คุยกันมานานมาก แต่เขามาวิ่งด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเพราะเขาเห็นว่าผมวิ่งได้

“ผมจะทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด ซึ่งผมก็ไม่รู้อนาคตหรอก ผมไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น ถ้าวันหนึ่งผมเบื่อวิ่ง ผมอาจจะหันไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่วันนี้ผมยังมีความสุข ผมก็จะทำต่อไปครับ”

ขอบคุณโรคร้ายในวันนั้น
ที่ทำให้มีผมในวันนี้

“ผมอยากขอบคุณตัวผมในวันนั้นที่ทำให้มีตัวผมในวันนี้ แล้วผมก็จะทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อให้ตัวผมในอนาคตได้ภูมิใจ วันนี้ผมต้องขอบคุณทุกโรคที่เข้ามา เพราะถ้าไม่เป็นโรค ผมคงจะพยายามหาเงินมากกว่าสนใจดูแลสุขภาพ ผมคงจะเป็นหนูที่ยังปั่นจักรของสังคมชีวิต แต่พอเราเป็นหนูที่ตกจักร เราเลยมีเวลามองดูคนที่ปั่นจักรอยู่ เราเรียนเก่งๆ เรียนสูงๆ ไปเพื่ออะไรกัน เราอยากมีเงิน อยากมีหน้าตาในสังคมไปเพื่ออะไรกัน เราไม่มีเวลามองดูเลย ถ้าเราไม่ป่วย มันทำให้ผมมีความคิดที่เป็นธรรมะมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยสนใจธรรมะเลยเพราะเราเข้าใจว่าธรรมะเป็นเรื่องของคนแก่ คนป่วย แต่พอเรามาเป็นโรค เรากลับสนใจมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ชีวิตเลยเบาขึ้น ความคิดก็เลยเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปตลอดกาลด้วยครับ

“ทุกวันนี้ผมความสุขมากนะครับ ซึ่งถ้าไม่ป่วย ผมอาจจะไม่มีความสุขเท่านี้ก็ได้ การเป็นโรคมันทำให้ผมได้เห็นสัจธรรม เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต ผมว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความรู้สึกต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ มันทำให้เราทุกข์มากกว่าปัญหาที่แท้จริง ผมได้เข้าใจทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เพราะเราเคยเป็นคนที่ถูกตัดสินมาก่อน เราเลยมองโลกได้กว้างขึ้น ต่อให้พรุ่งนี้ผมต้องป่วยอีก ผมก็ยังมีความสุข ผมจะรักษาเท่าที่รักษาได้ จะทำเท่าที่ทำได้ เพราะถึงแม้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงก็ขอให้เป็นเรื่องของปลายทาง

อย่าผูกติด “มะเร็ง” กับ “ความตาย”
ส่งต่อกำลังใจให้ผู้ป่วย เพื่อเป็นวิทยาทานสืบต่อไป

“ผมว่าโรคมะเร็งอยู่ที่ใจจริงๆ นะครับ ส่วนใหญ่คนเป็นมะเร็งจะมีความเชื่อว่าเป็นแล้วต้องตาย ซึ่งมันน่ากลัวเพราะคนไปผูกโรคนี้กับคำว่าตายมากจนเกินไป ซึ่งผมอยากจะรื้อความคิดนี้ออกให้หมดว่ามันไม่จำเป็นต้องตายนะ วิวัฒนาการสมัยนี้ดีขึ้นมากๆ มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ ผมว่าความคิดมากมากกว่าที่น่ากลัว เดี๋ยวนี้เป็นอะไรนิดหน่อยก็เสิร์ชหาข้อมูลและคิดว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่เยอะแยะไปหมด ยิ่งโรคมะเร็งมันมีผลทางจิตใจด้วย

“อย่าไปท้อ ขอให้เชื่อว่าจะหาย อย่าไปมองว่าตัวเองคือผู้ป่วย ให้มองว่าเราเป็นผู้รักษาตัว กำลังใจจากตัวเองสำคัญที่สุดเลยนะครับ ผมคิดว่ามะเร็งก็เหมือนเราล้ม ทุกคนพยายามช่วยเรา ดึงเราขึ้น แต่ถ้าเราทำตัวหนัก เราเกร็งตัว เราไม่อยากลุก เราท้อแท้ เราอยากตาย ใครมาดึงก็ดึงไม่ขึ้นนะ ดังนั้นเราต้องไม่ทำตัวหนัก ไม่ทิ้งตัว พยายามดันตัวเองขึ้นด้วย มันจะผ่านไปได้ง่ายกว่า อย่าไปหนีปัญหา การหนีมะเร็งไม่ใช่ทางออกของการรักษามะเร็ง การเข้าใจมะเร็งนี่สิคือการถอนรากถอนโคนอย่างแท้จริง

“ท้ายนี้ ผมอยากให้เรื่องราวของผมเป็นวิทยาทาน ผมเลยทำเพจ Sam’s Story ขึ้นมาเพื่อส่งกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งกระแสตอบรับดีมากๆ เลยนะครับ ทั้งคนป่วย คนไม่ป่วย ญาติผู้ป่วย ทุกคนส่งข้อความเข้ามาปรึกษาให้กำลังใจ ส่วนอนาคตถ้ามีโอกาสและมีทุนมากพอ ผมอยากจะเขียนหนังสือแจก เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยได้กำลังใจจากข้อความของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันทน์ จากหนังสือความสุข ณ จุดที่ยืน อยู่เหมือนกัน กลายเป็นว่าแค่ข้อความเดียวเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย

“จริงๆ ข้อความ คำคมดีๆ ทุกอย่างมันมีอยู่ทั่วไปอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าเราไปเจอถูกที่ถูกเวลามันถึงจะส่งผล ผมเลยอยากส่งต่อเรื่องราวของผม ให้คนอื่นได้รับรู้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง สิ่งนี้จะได้เป็นเสมือนกำลังใจสำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับมัน ให้เขาผ่านไปให้ได้ เหมือนอย่างวันนั้นที่ผมเคยผ่านมา”



เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : กัมพล เสนสอน และ Facebook : Sam’s Story



กำลังโหลดความคิดเห็น