xs
xsm
sm
md
lg

“พริกน้ำปลา” ภัยร้ายใกล้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครไปร้านอาหารตามสั่งหรือร้านข้าวแกงแล้วชอบเติมพริกน้ำปลาเพิ่มบ้าง เชื่อว่าคงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยกมือขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ก็แหมถ้าไม่เติมก็เหมือนขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง อีกอย่างมันช่วยเพิ่มรสชาติได้ดีนี่เนอะ แต่รู้หรือไม่ว่าพริกน้ำปลาถ้วยจิ๋วที่เคียงข้างเมนูสุดโปรดหรือบางร้านก็ใส่ถ้วยไว้ให้เติมได้ไม่อั้นที่เราชอบกินในชีวิตประจำวันนี่แหละที่จะทำให้เราเสี่ยงโรคร้ายได้ เพราะ 1 ช้อนชามีโซเดียมถึง 500 มิลลิกรัมเลยล่ะ!

“พริกน้ำปลา” ถือได้ว่าเป็นโซเดียมที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดที่มักถูกมองข้า และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยไปแล้ว ไม่เชื่อลองสังเกตดูสิว่าร้านอาหารตามสั่งน้อยร้านนักที่จะไม่มีพริกน้ำปลา

“โซเดียม” คืออะไร

โซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา เพราะหากได้รับปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน เป็นต้น

ประโยชน์ของโซเดียม

-ช่วยปรับสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย
-ช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นประสาททำงานได้เป็นปกติ
-ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต
-ช่วยการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ
-ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ
-หากรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ 10 เปอร์เซ็นต์ , ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลง 13 เปอร์เซ็นต์ , ยืดอายุไตและไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่นๆ อีกด้วย

โทษของโซเดียม

-โรคไต เพราะปกติร่างกายของเราจะขับโซเดียมออกจากไต แต่ถ้ามีมากเกินไป ขับยังไงก็ไม่หมด ไตก็จะทำงานหนักจนเกิดอาการเสื่อม ทำให้ขับโซเดียมได้น้อยลง

-การรับประทานโซเดียมในปริมาณเกินความจำเป็นของร่างกายยังส่งผลทำให้เป็นความดันโลหิตสูงแบบถาวร ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

-อีกทั้งความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้นและหากปริมาณของเหลวในร่างกายมากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันและเสี่ยงที่หัวใจจะวาย หัวใจขาดเลือด ไปจนถึงเส้นเลือดในสมองแตกทำให้เสียชีวิต หรือกลายเป็น อัมพฤกษ์ - อัมพาต ได้ในที่สุด

-เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมก็จะขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้น โดยขับเอาแคลเซียมออกมาด้วย ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมจนเกิดกระดูกเสื่อมได้

-เสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะการกินโซเดียมมากๆ จะไปทำลายผนังกระเพาะอาหาร จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารและเกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

-ส่วนคนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว การกินโซเดียมมากๆ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้

วิธีลดโซเดียม

1. หากปรุงอาหารรับประทานเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรกะปริมาณก่อนปรุงรสทุกครั้ง

2. หากว่าจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงการเติมพริกน้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่จะละลายอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำซุป

3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารแช่อิ่ม อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งแล้วเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด

4. หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีโซเดียม เช่น กล้วยบวชชี และอาหารที่มีโซเดียมแฝง ขนมอบทุกชนิดที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ โดนัท พาย ซาลาเปา รวมทั้งสารกันบูดในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ

5. เลือกใช้เกลือหรือน้ำปลาโลว์โซเดียมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ มาปรุงรสแทนน้ำปลาทั่วๆ ไป
ข้อมูลประกอบบางส่วน http://www.thaihealth.or.th



กำลังโหลดความคิดเห็น