xs
xsm
sm
md
lg

กินให้ชัวร์ ใช้ให้เป็น “ยาคุมฉุกเฉิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo

เรื่องที่พูดกี่ครั้งกี่รอบ ก็ไม่มีทางล้าสมัย และเป็นการเตรียมพร้อมให้ความรู้สำหรับวัยรุ่นสำหรับเทศกาลแห่งความรักที่เผลอแป๊บเดียวก็จะมาเยือนเราอีกรอบแล้ว นั่นก็คือเรื่อง “ยาคุมฉุกเฉิน”
โดยปกติ เมื่อกล่าวถึงยาคุมฉุกเฉิน หลายคนนึกถึงยากินยี่ห้อที่เป็นรู้จักกันกันดี แต่จริงๆ แล้ว การใช้ห่วงสอดที่เรียกว่า copper IUD หรือ copper Intra-uterine device ก็เป็นวิธีการอีกอันหนึ่งสำหรับการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยเช่นกัน

ทำไมต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน?
นิยามของการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินนั้น ถ้าดูตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ก็ค่อนข้างครอบคลุมสถานการณ์ของการมีเพศสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดใดๆ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศและไม่มีการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย หรืออาจจะมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้ได้ด้วย

เช่น ถุงยางอนามัยแตก หลุด หรือใช้ไม่ถูกวิธีขณะมีเพศสัมพันธ์, การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ฝ่ายหญิงลืมกินยาคุมกำเนิด 3 วันติดต่อกัน, ลืมฉีดยาคุมกำเนิดชนิด norethisterone enanthate ตามนัดไปนานเกิน 14 วัน, ลืมฉีดยาคุมกำเนิดชนิด depot medroxyprogesterone acetate ตามนัดไปนานเกิน 28 วัน, มีเหตุการณ์ที่ทำให้ห่วงครอบปากมดลูกเลื่อนหลุด ฉีกขาด, นับวันไข่ตกผิดพลาด (ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ไม่นิยมแล้ว เพราะมีอัตราล้มเหลวสูงมาก) หรือหลั่งนอกไม่ทัน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยที่มีข้อมูลว่า หากใช้อย่างถูกต้องจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 95% (บางข้อมูลอาจระบุว่าป้องกันได้ 77-82%) โดยทั่วไปแล้ววิธีการใช้ยาจะอยู่ข้างกล่องผลิตภัณฑ์ สิ่งที่เน้นคือ จำเป็นที่จะต้องกินยาอย่างถูกวิธี ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการกินยาคุมฉุกเฉิน 2 แบบคือ

แบบที่หนึ่ง กินครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง เม็ดแรกกินทันที (ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง) หลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จ และเม็ดที่สองหลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมง

แบบที่สอง กิน 2 เม็ดทันที (ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง) หลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จ โดยวิธีที่สองจะเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะสะดวก ลดโอกาสการลืม กระนั้นก็ตาม อย่างที่จั่วหัวไว้ด้านบน ไม่มีวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผล 100% หากกินยาได้เร็วมากขึ้นเท่าไรก็ลดโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากเท่านั้น

เนื่องจากเป็นยาเม็ดที่มีปริมาณฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงกว่ายาคุมกำเนิดปกติทั่วไปประมาณ 5 เท่าต่อเม็ด (เทียบกับสูตรที่ใช้ฮอร์โมนชนิดเดียวกัน) ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะมีอาการข้างเคียงจากการกินยาคุมฉุกเฉินสูงกว่าปกติ เชน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตึงคัดเต้านม

เนื่องจากบอกแล้วว่าเป็น ยาคุม “ฉุกเฉิน” จึงไม่มีคำแนะนำให้ใช้บ่อย (ข้อมูลเดิมบอกว่า ไม่ควรใช้เกิน 4 เม็ดต่อเดือน) ยาคุมฉุกเฉินนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้เป็นประจำ (เพราะมีปริมาณฮอร์โมนต่อเม็ดสูงกว่าปกติอย่างที่กล่าวแล้ว) อีกทั้งข้อมูลรับรองประสิทธิภาพ ความปลอดภัยในรูปแบบการใช้ที่ไม่ตรงตามคำแนะนำปกติก็ไม่มี

แต่ในชีวิตจริง สถานการณ์ไม่ง่ายขนาดนั้น ผู้เขียนพบสถานการณ์ที่มีความหลากหลายมาก เช่น ผู้หญิงกินทั้งยาคุมกำเนิดปกติ แต่ก็กินยาคุมฉุกเฉินด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ (นัยว่าเพื่อกันเหนียว) ซึ่งนอกจากไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้วยังมีความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงจากยาด้วย หรือยาคุมฉุกเฉินออกแบบมาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้เตรียมตัว ไม่พร้อม ไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีอุปกรณ์คุมกำเนิด (เช่น ถุงยาง)

แต่คำถามที่ผู้เขียนมักได้รับและเป็นคำถามยอดฮิตมากๆ เลยก็คือ มีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว 1 ครั้ง (ไม่ได้ใช้ถุงยาง) กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว 1 เม็ด ระหว่างรอ 12 ชั่วโมงถัดไปเพื่อจะกินยาอีก 1 เม็ด ก็มีเพศสัมพันธ์อีก 2 ครั้ง (ซึ่งก็ไม่ได้ใช้ถุงยางอีก) จะต้องกินยาอย่างไร กินเพิ่มหรือไม่ ซึ่งจากกรณีนี้เดาว่า น่าจะไม่เกี่ยวข้องกับ “ความฉุกเฉิน” ในการมีเพศสัมพันธ์แล้ว และเป็นกรณีที่นอกเหนือจากสิ่งที่เอกสารวิชาการแนะนำไว้ กรณีนี้ทำได้อย่างเดียวคือให้กินอีก 1 เม็ดตามคำแนะนำปกติ (สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ 1 ครั้งก่อนหน้า) และไปพบแพทย์

มีข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า ในผู้หญิงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2) จะมีความเสี่ยงในการใช้ยาคุมฉุกเฉินในขนาดปกติแล้วไม่ได้ผลสูงกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติ ดังนั้นอาจเป็นจุดที่ต้องคำนึงถึงไว้ด้วย (เพราะพบว่าในผู้หญิงที่อ้วน เมื่อกินยาคุมฉุกเฉินในขนาดปกติ จะมีระดับยาสูงสุดในเลือด ต่ำกว่า ผู้หญิงปกติที่กินยาคุมฉุกเฉินในขนาดที่เท่ากัน)

อีกสิ่งซึ่งสำคัญมากคือ ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ให้ผลในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ยินยอม หรือเพศสัมพันธ์แบบที่ฝ่ายชายไมได้สวมถุงยางอนามัย ความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเกิดขึ้นตามปกติ (นี่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนมองข้าม)
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

เอกสารอ้างอิง:
Fok WK and Blumenthal PD. Update on emergency contraception. Curr Opin Obstet Gynecol 2016; 28: 522-9.
WHO. Emergency contraception [Online]. Available at: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs244/en/. Accessed on Jan 10, 2018.


กำลังโหลดความคิดเห็น