xs
xsm
sm
md
lg

6 พฤติกรรมยอดฮิต ทำ “คนเมือง” สุขภาพพัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยน วิถีชีวิตที่หมุนไว ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์คนเราเพิ่มเติมเพื่อให้ก้าวทันโลก โดยเฉพาะกับคนเมืองที่ต้องเร่งรีบแข่งขันกับเวลาจนหลงลืมใส่ใจสุขภาพหรือทั้งๆ ที่รู้แต่ก็ไม่อาจะละวางลงได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รอบด้านผลักดัน แม้บางคนก็ยังมีความใส่ใจกับการดูแลตัวเอง กินคลีน เล่นฟิตเนส แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เสี่ยงทำลายสุขภาพเราโดยไม่รู้ตัวที่จะส่งผลร้ายให้สิ้นสุขภาพก่อนเวลาอันควร

1.ชีวิตเร่งรีบ อาหารก็เช่นกัน
เช้างด หนักเที่ยง ไลฟ์สไตล์ประจำวันส่วนใหญ่ ทว่าหลังจากการอดมื้อเช้า จึงทำให้ในมื้อเที่ยงเรามักจะอยากกินอาหารจานด่วนพลังงานสูง เช่น ไก่ทอด กะเพราหมูกรอบ ข้าวเหนียวหมูปิ้งและ ชานมเย็นแสนชื่นใจ มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลต่อร่างกายในระยาวที่ส่งผลต่อสุขภาพ แถมคุณจะได้รับพลังงานจากมันมากถึง 340 แคลอรีเลยทีเดียว อีกทั้งยังได้รับไขมัน สารน้ำตาลที่เกินขนาดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และยังมีสารปนเปื้อนประเภทสารอะลูมิเนียมในไก่ทอด ที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อระบบการทำงานของสมองและระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย
 
ข้อแนะนำ
การทานอาหารเช้า นอกจากจะทำให้เรามีพลัง ในการคิด และ ทำงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดความอยากอาหารอ้วนๆ ในมื้อต่อๆไป ทำให้เรามีอารมณ์เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นลองเตรียมอาหารเช้าล่วงหน้าไว้อย่างง่ายๆ แต่มีคุณค่า เช่นแซนด์วิชโฮลวีท ผลไม้ นมจืดพร่องมันเนย

2.คิดผิดว่าการนอน = การเสียเวลา
คนนอนเยอะ คือคนขี้เกียจ คนนอนน้อยคือคนขยัน หากแต่ความจริงเราควรต้องบาลานซ์ชีวิตให้ดี อย่าปล่อยให้กิจกรรมที่เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะเล่นโทรศัพท์ ดูซีรี่ย์ ปาร์ตี้ทุกวันหรือยันสว่างข้ามคืน ซึ่งนอกจากกระทบหน้าที่การงานยังส่งผลเสียร้ายต่อร่างกายนานัประการ อาทิก่อให้เกิดการด้อยประสิทธิภาพในการเรียนรู้และเข้าใจ โรคหัวใจ และโรคอ้วนเนื่องจากการที่ร่างกายของเรา หลังจากที่ไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะเกิดอาการอยากอาหาร หรือว่าหิวง่ายขึ้น
 
ข้อแนะนำ
ความจริงคนจะขยันหรือไม่ขยันวัดกันตอนตื่นว่าเราทำอะไร ส่วนช่วงเวลานอนหลับก็คือ การพักผ่อน ยิ่งพักนอนเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง สมองและร่างกายได้รับการฟื้นฟูอีกทั้งยังช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้น ก่อนนอน 30-60 นาที จึงควรงดเล่นมือถือหรือดูโทรทัศน์ ที่สำคัญพยายามให้ห้องนอนมืดสนิทและควบคุมเวลาการตื่นนอนในเวลาเดิมประจำ จะทำให้ในวันต่อๆ ไปเป็นระบบและหลับง่ายสบายขึ้น

3.เครียดกับการเดินทาง
โรคยอดฮิตของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งจากพบสำรวจพบว่าใน 1 ปี คนกรุงเทพเสียเวลาไปกับการเดินทางถึง 1 เดือน โดยเฉาพะคนที่เดินทางด้วยรถประจำทางต้องเจอทั้งอากาศร้อนรวมไปถึงมลภาวะต่างๆ ส่วนคนที่เดินทางด้วยส่วนตัวก็ต้องเจอกับความวุ่นวาย รถติด คนขับที่ไม่มีน้ำใจ ซึ่งมักทำให้ชาวเมืองเกิดความเครียดสะสมอย่างมาก
 
ข้อแนะนำ
ท่ามกลาสังคมเมืองที่ปัญหาจราจรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรลองเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเท่าที่โอกาสอำนวยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเดินและขยับตัวมากขึ้น ซึ่งในการเดินก้าวแต่ละก้าวเช่นการเดินไปป้ายรถเมล์ การเดินขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น จะช่วยเบิร์นไขมัน เสริมสร้างกระดูกและกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต เพิ่มสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดความตึงเครียด ความโกรธ ความเหนื่อยล้า และความวิตกกังวล และหากรถติดนานๆ ก็ควรขยับตัวไปมาให้ร่างกายได้บริหารไปด้วยในตัว ฉะนั้นลองหา Audio book (เป็นหนังสือเสียง เหมือนมีคนอ่านหนังสือให้เราฟัง) มาเปิดฟังระหว่างเดินทางหรือฟังวิทยุรายการสาระและสุขภาพ การเดินทางของเราก็จะไม่เสียเปล่าแถมยังได้ความรู้

4.นั่งนานๆ ท่าเดิมๆ
เวลาทำงานเราก็นั่งทั้งวัน เดินทางไปกลับก็นั่งบนรถติดๆ กลับถึงบ้านก็นั่งเล่นมือถือต่อ ที่สำคัญคือนั่งท่าผิดๆ ตัวงอ ไหล่ห่อ คอยื่น ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นตึงเครียด เมื่อยบ่า ตึงคอ ปวดหลัง กลายเป็นโรค “ออฟฟิตซินโดรม” ที่จะตามมาอีกด้วย
 
ข้อแนะนำ
ควรปรับท่าทางการนั่งทำงานบ่อยๆ ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์รวมไปถึงท่าทางการยืน เดินหรือก้มหยิบของ การสะพายกระเป๋า การใส่รองเท้าส้นสูง ฯลฯ เนื่องจากท่าทางที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวันล้วนส่งผลต่อการเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรม โดยไม่รู้ตัวเมื่อทำต่อเนื่องติดต่อกัน ฉะนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะหาเครื่องมือช่วยเตือนให้ลุกขึ้นปรับเปลี่ยนอิริยาบถอย่างน้อยทุกๆ ต้นชั่วโมง

5.เสพติดกาแฟและน้ำตาล
งานหนักล้นมือ ความเครียด ความอยากอาหารหรือการติดรสหวาน ล้วนทำให้คนเมืองต้องเติมคาเฟอีนและน้ำตาลอยู่เสมอๆ นอกจากนี้บางคนยังชอบที่จะทานอาหารรสจัด แถมติดเติมน้ำปลาให้รสชาติเข้มข้น รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นพฤติกรรมที่ขาดเจ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว
 
ข้อแนะนำ
ทั้งคาเฟอีน น้ำตาล เกลือ น้ำปลา หากยิ่งรับประทานเยอะจะยิ่งติด จึงควรค่อยๆ ลดปริมาณลงทีละนิดหรือปรับส่วนผสม อาทิเช่น เติมนมสดพร่องมันเนยแทนครีมเทียม ใช้ความเค็ม หวาน เปรี้ยว จากผัก ผลไม้ พอให้ได้รส เป็นต้น ร่างกายเราก็จะปรับเข้าสู่สภาวะปกติห่างไกลโรคร้ายต่างๆ

6.ดูแลสุขภาพแค่บางด้าน
เลือกกินอาหารคลีนอย่างเดียว ไม่ออกกำลังกาย (ในคนอายุเยอะ) เข้าฟิตเนสตลอด แต่กินตามใจปากและนอนน้อย (ในคนรุ่นอายุน้อย) จริงอยู่ที่ว่ากินอย่างไร ร่างกายเราก็จะเป็นอย่างนั้น หรือออกกำลังกายแล้วร่างกายเราจะแข็งแรง ทว่าขนาดร่างกายเรายังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การที่เราเลือกดูแลสุขภาพเพียงบางด้าน สุขภาพคนเมืองที่เรามักพบเจอจึง “ดี” ไม่สุดกันสักที
 
ข้อแนะนำ
สุขภาพก็เหมือนการสอบทำให้ทุกวิชาเป็น 80% ยังดีกว่าบางวิชา ได้ 100% แต่บางวิชาสอบตก ดังนั้นควรจัดการให้ครบทุกด้าน ทั้งเรื่องอาหารที่ดี การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ อารมณ์ดี พักผ่อนเพียงพอ งดบุหรี่และเหล้า โดยคนอายุน้อยที่เข้าฟิตเนสอยู่แล้วเป็นประจำก็ควรหันมาใส่ใจเริ่มดูแลเรื่องอาหารการกิน ลดความเครียด ลดกิจกรรมที่จะลดการพักผ่อนให้มากขึ้นเพื่อให้พื้นฐานสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ส่วนคนที่อายุมากถ้าออกกำลังกายหนักไม่ไหวก็พยายามขยับตัวให้มากขึ้น อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขวนบริหารซึ่งช่วยได้มาก นอกจากนี้ทางที่ดีคือหมั่นตรวจสุขภาพ ขอคำแนะนำจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะชีวิตดีๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจเฟซบุ๊ก Jones Salad

กำลังโหลดความคิดเห็น