xs
xsm
sm
md
lg

อย่าปล่อย!! จนเป็นมะเร็งตับ แล้วค่อยรู้จักโรค “ไขมันเกาะตับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บทความโดย : พญ.ภัทรลดา ปราโมช ณ อยุธยา
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย MW clinic
รองคณบดี สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต

พูดถึงโรคไขมันเกาะตับ นับว่าเป็นความโชคดีมากๆ เพราะว่าโรคนี้สามารถที่จะดูแลรักษาได้เพียงแค่เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต อาหารการกิน ถ้าหากว่าเราหวังพึ่งยาอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะหายขาดได้

หลายคนปล่อยปละละเลย ยังไม่เข้าใจการดำเนินของโรค เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่หารู้ไม่ว่าอาจจะรุนแรงถึงขั้นตับอักเสบเรื้อรัง และลงเอยที่ตับแข็งและมะเร็งตับได้ค่ะ

นอกจากนี้ ไขมันเกาะตับมักจะเกิดควบคู่กับโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังต่างๆ ของร่างกาย เอาไว้มีโอกาสหมอจะเล่าถึงเรื่องของการอักเสบของร่างกายนะคะว่ามันส่งผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังยังไง

ไขมันเกาะตับ ตั้งชื่อตามคำเรียกตรงๆ เพราะว่ามีไขมันไปเกาะที่ตับมากเกินไป ร่างกายเผาผลาญไขมันนี้ไม่ทัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ

เราแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรคนี้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์
2. ไม่ได้เกิดในกลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่มีแลป หรือผลการตรวจใดๆ ที่จะแยกระหว่างคนไข้ 2 กลุ่มนี้ออกจากกันได้

ดังนั้น กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโรคนี้ คือคนที่มักจะทำให้ตับทำงานหนัก เสี่ยงต่อตับอักเสบ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาที่ต้องมีกระบวนการผ่านตับ (พาราเซตามอล ฯลฯ)อย่างเกินความจำเป็น

ภาวะทุกขโภชนาการ คือทานอาหารที่ไม่เหมาะสม กินแป้งมากไป กินไขมันชนิดดีน้อยไป กินน้ำตาลมากเกินไป กินไขมันอิ่มตัวมากจนเกินไป (satuated fatty acid) (เพราะไม่ว่าไขมันจะมาจากแหล่งไหนก็ไม่มีไขมันอิ่มตัวหรือไม่อิ่มตัวเพียงอย่างเดียว มักจะมีปะปนกัน อยู่ที่สัดส่วน เช่น น้ำมันมะกอกเป็นไขมันไม่อิ่มตัว แต่ก็มีสัดส่วนของไขมันอิ่มตัวอยู่ เพียงแต่มีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นควรทานให้พอดี ในขณะเดียวกันไขมันอิ่มตัวที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เช่นไขมันทรานส์ ควรหลีกเลี่ยง) พันธุกรรมที่ทำให้การจัดการเผาผลาญไขมันในร่างกายลดลง โดยส่วนมาก ถ้าตัวโรคไม่ได้รุนแรงมักจะยังไม่มีอาการ การวินิจฉัยโรค

นอกจากจะรู้วิธีการดูแลตัวเองแล้ว เราก็ควรจะทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้ด้วย เพื่อป้องกันและตัวแลตัวเองในระยะยาว

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2010 ใน QJM ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ โดยมักจะเน้นการตีพิมพ์เนื้อหาที่เกี่ยวกับการแพทย์เฉพาะทาง ก็ได้ทำการรวบรวมงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับไขมันเกาะตับ และมาทบทวนถึงสาเหตุการเกิดโรคไขมันเกาะตับที่ไม่ใช่มาจากแอลกอฮอล์ พบว่า มักจะสัมพันธ์กับคนที่มีภาวะอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และยังพบว่าช่วงอายุของคนที่พบโรคนี้อายุน้อยลง รวมทั้งมีรายงานว่าพบในเด็ก และพบมากขึ้นในเด็กอ้วน

ในงานวิจัยชิ้นนี้พยายามที่จะหาสาเหตุที่แน่นอนในการเกิดโรคนี้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดในทุกประเด็น จึงสมมุติฐานการเกิดโรค

อย่างแรกคือ 2-hit hypothesis การที่ตับมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สะสมในตับมากขึ้นๆจนเกินกว่าที่ตับจะรับไหว ทำให้ตับต้องหลั่งสารอักเสบออกมา (Cytokines/adipokines) ร่างกายก็เกิดความเสียหายจากการหลั่งสารอักเสบตามมา เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นมาก การทำงานของไมโตรคอนเดียลดลง (ไมโตรคอนเดียคือ แหล่งสร้างพลังงานในระดับเซลล์) ตามมาด้วยตับอักเสบ

จากสาเหตุนี้ จะเห็นว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยง คือคนที่อ้วนลงพุง กินไขมันไม่ดีมากเกิน เนื้อตับเองก็ทำงานหนักมาก อาจจะมีบางส่วนที่เสื่อมไป และร่างกายก็ผลิตเซลล์ตับขึ้นมาไม่ทัน ทำให้ตับเผาผลาญไขมันไม่ทัน หรือไม่ก็อาจจะผลิตเซลล์ตับที่ไม่สมบูรณ์ มักจะเกิดในคนไข้ที่มีตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับทำงานหนักๆ มาก ไปจนถึงผลิตเซลล์ตับปกติมาชดเชยไม่ทัน ก็เกิดตับแข็ง แต่ถ้าในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ก็จะผลิตเซลล์ตับขึ้นมาแทนที่เซลล์ตับที่เสื่อมไปและมาทำงานชดเชยกันได้

สาเหตุที่ 2 คือการที่ร่างกายมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง ไม่ว่าจะเป็นจากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะไขมันทรานส์ การสลายไขมันในร่างกายเพื่อให้ได้กรดไขมันและกลีเซอรอล กระบวนการเหล่านี้จะยิ่งทำให้ร่างกายสะสมไขมันชนิดเลว (LDL) มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตับก็จะมีไขมันเพิ่มขึ้น ทั้งจากการผลิตที่มากขึ้นและการพยายามจะนำไขมันไปเผาผลาญให้ออกจากร่างกาย

สาเหตุที่ 3 การดื้อต่ออินซูลิน ความจริงแล้วในคนปกติร่างกายจะมีตัวรับฮอร์โมนอินซูลินอยู่ตามเซลล์ต่างๆ เพื่อนำน้ำตาลจากในเลือดไปใช้ในเซลล์ แต่ถ้าเซลล์นั้นดื้อต่ออินซูลิน นั่นก็คือ ตัวรับอินซูลินของเซลล์ไม่ทำงานนั่นเอง ทำให้มีน้ำตาลค้างอยู่ในหลอดเลือด เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มสารอนุมูลอิสระ ร่างกายหลั่งสารอักเสบออกมา ทำลายเนื้อตับ หากว่าร่างกายไม่สมบูรณ์ผลิตเนื้อตับที่ดีมาชดเชยไม่ได้ ก็จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังจนสุดท้าย ลงเอยด้วยตับแข็งและมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งตับ

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังกล่าวถึงว่า พันธุกรรมก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้การเผาผลาญไขมันลดลง การดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น อ้วนลงพุง ซึ่งหากสามารถควบปัจจัยภายนอก เช่น การรับประทานอาหาร ก็จะช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้

งานวิจัยนี้กล่าวว่า การรักษาล่าสุดจะเน้นไปที่การเพิ่มกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย รักษาโรคแทรกอื่นๆ เช่น เบาหวาน ให้ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เนื้อตับกลายเป็นตับแข็ง

ฉะนั้น ถ้าหากว่ามีภาวะเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคอ้วนลงพุง, โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอแล้ว การดูแลตัวเองตามแนวทางที่แนะนำ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การลดการใช้ยา ด้วยการบูรณาการความรู้ความเข้าใจในทุกศาสตร์ จึงเป็นการรักษาที่ยั่งยืนที่สุด

อ้างอิง
J. K. DOWMAN et al. Pathogenesis of non-alcoholic fatty liver disease , Q J Med 2010; 103:71-83
doi:10.1093/qjmed/hcp158 Advance Access Publication 13 November 2009

กำลังโหลดความคิดเห็น