xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน 5 สัญญาณเตือนว่า "ตา" อาจจะบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางสภาวะของสังคมที่ต่างคนต่างมุ่งหวังในเรื่องตัวของตัวเอง ภาวะการพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นไปได้ยากแม้ว่าจะเป็นเครือญาติมิตรหรือกระทั่งคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง และสิ่งที่ทำให้ความสามารถในการดูแลตัวเองลดลงกว่าร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ การที่สูญเสียสายตาในการมองเห็น
 
ดังนั้นจะเป็นอย่างไร หากเราสามารถป้องกันและผ่อนปรนการสูญเสียการมองเห็นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ

โรคต้อกระจก (Cataract)

อันดับหนึ่งเบอร์ต้นเพราะมีแนวโน้มถึงร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคนี้จากความเสื่อมของเลนส์แก้วตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง โดยอาการแรกเริ่มของโรคคือ ดวงตาค่อยๆ เห็นภาพซ้อน มัวลงอย่างช้าๆ นานเป็นปี โดยไม่มีอาการเจ็บปวด การมองเห็นจะแย่ลงเมื่อแสงไม่พอหรือเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง สามารถชะลอความเสื่อมได้บ้างด้วยการถนอมสายตาโดยการสวมแว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันดวงตาจากรังสี UV
 
ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากปัจจัยทางด้านร่างกายของอายุที่เสื่อมถอยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต้อกระจกก่อนวัยอันควรได้แก่ การได้รับแสง UV บ่อยๆ โดยตรงจากหลอดไฟ หน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรืออยู่ในที่ๆ มีแสงแดดจ้าเป็นเวลานานเป็นประจำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคต้อกระจกได้ก่อนวัยอันควร

ต้อหิน (Glaucoma)


อันดับสองรองลงมาที่พบได้โรคสายตายอดฮิตของผู้สูงอายุ ทว่าเป็นภัยเงียบที่นำไปสู่การสูญเสียดวงตาถาวรโดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากขั้วประสาทตาผิดปกติ โดยมีภาวะความดันลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจนมีการทำลายประสาทตา ซึ่งในช่วงแรกของโรคมักไม่แสดงอาการ แต่จะเริ่มสูญเสีย(ลานสายตา)การมองเห็นจำกัดวงแคบลง จากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อยๆ อาการตามัวส่วนใหญ่มักจะมัวมากจนถึงขั้นมองเห็นหน้าคนไม่ชัด ก่อนจะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์หากรักษาไม่ทันการณ์ในกรณีมองเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ นอกจากนี้ยังพบอาการปวดตาและปวดศีรษะข้างเดียวร่วมกัน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ตาแดง น้ำตาไหลภายใน 30-60 นาที

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคต้อหินมากขึ้นได้แก่ กรรมพันธุ์ ผู้ที่ภาวะสายผิดตาสั้นมากๆ หรือยาวมากๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสู โรคที่ทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ อักเสบเรื้อรังผู้ใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตามาก่อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกับจักษุแพทย์ เพราะยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่จะทำให้การมองเห็นเป็นปกติ ทำได้เพียงมิให้การมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม

จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Age-related macular degeneration)

อีกหนึ่งโรคตาที่เป็นภัยเงียบเพราะมักไม่พบสิ่งผิดปกติจากการตรวจดูภายนอกลูกตา แต่เมื่อตรวจวัดสายตามักพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรืออาจพบสายตาลดลงได้ถึง 20/200 หรือลดลงมากกว่านี้ในรายที่เป็นรุนแรง เนื่องจากเกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง ในขณะที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้เป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติเพราะอาการเหล่านี้มักเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อนและตาอีกข้างยังดีอยู่ และจะเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนเมื่อเป็นทั้งสองข้าง โดยไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด
 
โดยสามารถพบโรคนี้ได้ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 65 ปี โรคนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง ผู้ป่วยมักจะมีอาการสายตาผิดปกติหรือตามัวค่อยๆ มากขึ้นอย่างช้าๆ มักสังเกตได้ว่าเมื่อมองใกล้ๆ ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้น เช่น เมื่ออ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต เมื่ออยู่ในที่สลัวสายตาจะไม่ดี มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน อ่านตัวหนังสือได้ไม่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จำหน้าคนไม่ได้ สายตาพร่ามัวมากขึ้น มีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอดบริเวณกลางลานสายตา ในขณะที่ชนิดเปียกผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นภาพผิดปกติตรงกลางของลานสายตามีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอด มักเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรงขึ้นรวดเร็ว เช่น มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือเป็นเส้นคด มองเห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป มองเห็นวัตถุมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ หรืออยู่ห่างกว่าปกติ
 
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่นอกจากอายุยังเกิดจากสาเหตุของแสงยูวีต่างๆ การสูบบุหรี่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงควรตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี และหมั่นรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อาทิ ผักผลไม้ วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี ทองแดง

เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy)


เป็นโรคแทรกซ้อนทางตาที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและสามารถส่งผลร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อันเป็นผลมาจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่จอตา ทำให้เลือดและสารต่างๆ รั่วซึมออกมา โดยในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ อาการจะค่อยเป็นค่อยไป จากนั้น ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการตาพร่ามัวทีละน้อย เนื่องจากมีการรั่วซึมของเลือดและน้ำเหลืองจากหลอดเลือด ซึ่งหากรั่วซึมไปถึงจุดศูนย์กลางของการรับภาพ ก็จะทำให้มีอาการตามัวมากขึ้น ทำให้ยากต่อการตรวจพบจุดเลือดที่ออกที่ตา ซึ่งหากมีอาการตามัวแสดงว่าเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว ความผิดปกติของหลอดเลือดนี้จะส่งผลถึงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย รวมไปถึง “ดวงตา” ด้วย โดยหลอดเลือดในจอประสาทตาจะเริ่มเกิดอาการอักเสบ โป่งพอง มีเลือดและน้ำเหลืองซึมออกมากระจายอยู่ทั่ว ๆ จอประสาทตา หากปล่อยทิ้งไว้จอประสาทตาจะขาดเลือด เซลล์ในการรับการมองเห็นถูกทำลายจนเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นค่อย ๆ ลดลง จนสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
 
ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถป้องกันดวงตาโดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และคอยดูแลร่างกายโรคประจำตัวอื่นๆ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคไขมันในเลือดสูงอย่างเหมาะสม ที่สำคัญผู้ป่วยโรคเบาหวานควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดปีละหนึ่งครั้ง

ภาวะสายตายาวสูงอายุ (Presbyopia)

เป็นภาวะปกติที่พบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน โดยผู้ที่ป่วยจะมีอาการมองภาพใกล้ๆ ไม่ชัดเจน ในขณะที่มองไกลยังเห็นได้ดี บางรายอาจมีอาการตาพร่าหรืออาการปวดตาร่วม เพราะเกิดจากความสามารถในการเพ่งปรับสายตาอ่อนแรงลง เนื่องจากเลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้น และการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง ผู้ที่มีปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดอยู่แล้วก็จะทำให้สามารถมีปัญหาสายตายาวสูงอายุเร็วกว่าคนอื่น ซึ่งแม้จะไม่อันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวรและเฉียบพลัน กระนั้นก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
 
ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจดวงตาเป็นประจำในทุกๆ ปี ซึ่งภาวะสายตายาวสูงอายุสามารถรักษาด้วยการใช้แว่นสายตาหรือการผ่าตัดทำเลสิกเพื่อลดอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการมองไม่ชัดเจน

กำลังโหลดความคิดเห็น