xs
xsm
sm
md
lg

อากาศร้อน เสี่ยง "ลมพิษ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้อนๆ แบบนี้หลายคนอาจจะมีอาการคัน ผดผื่นขึ้น ดีไม่ดีหนักเข้าอาจจะลามไปเป็นลมพิษได้


ลมพิษ เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มของอาการภูมิแพ้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ลมพิษชนิดเฉียบพลัน จะเป็นๆ หายๆ น้อยกว่า 6 สัปดาห์ และ ลมพิษชนิดเรื้อรัง จะเป็นๆ หายๆ นานกว่า 6 สัปดาห์ อาการที่พบคือผิวหนังบริเวณที่เป็นลมพิษจะนูน บวม และแดงคล้ายถูกยุงหรือมดกัด มีขนาดที่แตกต่างกัน อาจเป็นได้ตั้งแต่จุดเล็ก ไปถึงจนปื้นแดงขนาดใหญ่ แต่จะเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชม. ผื่นนั้นก็จะยุบหายไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่น ๆ ได้อีก หรือบางรายก็เป็นๆ หายๆ นานติดต่อกันเป็นเดือน เป็นปีก็มี

ลมพิษเกิดได้หลายสาเหตุ ยกตัวอย่าง 6 สาเหตุหลัก ดังนี้

1.อาหาร สาเหตุอาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือแพ้สารพิษของสีผสมอาหาร สารกันบูด เครื่องเทศ แบคทีเรียหรือเชื้อราในอาหารต่างๆ อาหารที่สามารถทำให้เป็นลมพิษได้ ได้แก่ ของหมักดอง อาหารทะเล อาหารกระป๋อง ฯลฯ
2.ฮอร์โมนก็มีส่วน ยิ่งในผู้หญิงที่เป็นประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือแม้แต่วัยทองก็อาจจะเป็นส่วนทำให้กระตุ้นลมพิษได้
3.ยา ก็สามารถทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ กลุ่มยาลดความดัน ลดไขมัน ฯลฯ
4.การสัมผัสกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนหรือไม่สะอาดก็สามารถทำให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน
5.เชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ก็เป็นสาเหตุของลมพิษที่พบบ่อย เพราะเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทางใดก็ได้ไม่เว้นแม้แต่ผิวหนัง
6.ความร้อนและแสงแดดก็เป็นหนึ่งสาเหตุ และยิ่งอากาศร้อนๆ แบบนี้ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลมพิษเอาได้ง่ายๆ เลยล่ะ

วิธีป้องกันและการรักษาลมพิษ

-หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่เคยทำให้เกิดลมพิษ (หากทราบสาเหตุ)

-ควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษว่าเกิดจากสาเหตุอะไร

-ระมัดระวังในการเรื่องของการใช้ยาต่างๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดลมพิษได้ ซึ่งผู้ที่เป็นลมพิษบ่อยหรือมีโรคภูมิแพ้อยู่เป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากพบว่ายาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบได้

-ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อจะได้ขับสารพิษออก

-ไม่แกะหรือเกา เพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งหากมีอาการคันให้ใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) หรือทายาแก้ผดผื่นคันอื่นๆ ทาด้วยเหล้า หรือแอลกอฮอล์ก็ได้ (ถ้าผู้ป่วยไม่แพ้)

-งดอาหารที่วัตถุเจือปนประเภทที่แต่งสี กลิ่น รส รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ วิตามิน สมุนไพร ยาบำรุง หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต่างๆ

-ออกกำลังกาย และพยายามหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

-หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือยังเป็น ๆ หาย ๆ นานเกิน 2 เดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

-หากอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง หน้าบวม ตาบวม ปวดบวมอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาจจะเป็นลมพิษชนิดฉับพลัน ซึ่งลมพิษชนิดฉับพลันนี้อาจจะมีผลทำให้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข้อมูลประกอบบางส่วน : medthai.com

กำลังโหลดความคิดเห็น