xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดวิธี "กินวิตามิน" ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By : Pharmchompoo

วิตามินเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ วิตามินเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในปฏิกิริยาการนำสารอาหารที่ให้พลังงานอย่าง คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ไปใช้ประโยชน์ หากไม่มีวิตามิน สารอาหารที่กินเข้าไปก็จะอยู่นิ่ง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น หากขาดวิตามินบี 1 คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในข้าวที่เรากินเข้าไป ก็จะเอาไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่ได้ แบบนี้เป็นต้น

หลายคนในปัจจุบันมีความคิดว่า ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ อาหารการกินที่เปลี่ยนรูปแบบไปมากมาย ความเครียด การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน ต้องการวิตามินเสริม ในบทความนี้จะไม่พูดถึงว่า การกินวิตามินเสริม ดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่จะให้ข้อมูลว่าหากจะต้องกินวิตามินแล้ว กินอย่างไรให้คุ้มค่าไม่สูญเปล่า

วิตามินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ วิตามินที่ละลายในน้ำได้แก่ ตระกูลวิตามิน บีทั้งหลาย กรดโฟลิค และอีกประเภทคือวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่วิตามินเอ ดี อี และเค

วิตามินที่ละลายในน้ำ ร่ายกายต้องการในปริมาณที่สม่ำเสมอทุกวัน เพราะไม่มีการสะสมในร่างกาย ส่วนที่ได้รับเกินจะขับออกทางปัสสาวะ

วิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายสามารถเก็บสะสมไว้ได้ในอวัยวะบางที่ เช่น ตับ การได้รับสะสมติดต่อกันนานๆ จะเกิดความเป็นพิษได้

วิตามินกินให้คุ้มค่า ต้องกินแบบนี้ !!!

1. กินวิตามินทุกชนิดหลังอาหาร เพราะอาหารจะช่วยให้การดูดซึมวิตามินให้เป็นไปอย่างช้า ๆ และควรกินตอนเช้า เพราะร่างกายจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

2. ห้ามกินวิตามิน (รวมทั้งแร่ธาตุสังกะสี หรือแคลเซียม) พร้อมเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ เพราะชา/กาแฟจะลดการดูดซึมวิตามินอย่างมีนัยสำคัญ หากติดเครื่องดื่มประเภทนี้จริง ๆ ให้กินวิตามินหลังอาหารทันที รอเว้นช่วงสักประมาณ 1-2 ชั่วโมง ค่อยดื่มชาหรือกาแฟ

3. แร่ธาตุบางอย่าง แม้จะดูดซึมได้ดีขณะท้องว่าง (เช่น สังกะสี) แต่อาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่นระคายเคืองในท้อง คลื่นไส้ จึงควรกินหลังอาหาร

4. วิตามินบี จะเป็นวิตามินที่ช่วยเรื่องการทำงานของระบบประสาท บางคนอาจจะไวต่อวิตามินบี การกินช่วงเย็นอาจทำให้รู้สึกตื่นตัว นอนไม่หลับ

5. คนที่กินวิตามินบีในขนาดสูง ปัสสาวะอาจจะมีสีเหลืองจัดกว่าปกติไม่ต้องตกใจ โดยเฉพาะผู้ที่กินวิตามินบีสูตรที่มีวิตามินบี 2 สูงๆ

6. แคลเซียมรูปแบบเม็ด หากจะกินเพื่อเสริมแคลเซียม ในผู้ที่เป็นโรคทางกระดูก ให้กินหลังอาหาร 15-20 นาที แต่หากกินเพื่อให้แคลเซียมไปจับกับฟอสเฟตในอาหาร (สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต ที่มีฟอสเฟตในเลือดสูง) ให้กินแคลเซียมพร้อมอาหาร และ “เคี้ยว” เม็ดยาเพื่อให้ยาจับกับฟอสเฟตในอาหารได้ดีขึ้น

7. วิตามินกินเพื่อให้ผล “เชิงป้องกัน” ในระยะยาว อาจไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาการขาดวิตามินมาก่อน

8. วิตามินหรือแร่ธาตุบางอย่างมีความจำเป็นจำเพาะในผู้ที่มีสภาวะบางอย่าง เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานกินยา metformin เป็นประจำ แพทย์อาจจ่ายวิตามินบี 12 ให้กินเสริม เพราะ metformin ทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินบี 12 ได้ หรือผู้ที่กินยาสเตียรอยด์เป็นประจำในการรักษาโรคบางชนิด แพทย์อาจให้กินแคลเซียมและวิตามินดีเสริม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระดูกโปร่งบาง หรือสตรีตั้งครรภ์ต้องได้รับกรดโฟลิคเพิ่มเพื่อป้องกันความผิดปกติของหลอดประสาทของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องกินยากันชักบางชนิดก็มีความจำเป็นที่จะต้องกินกรดโฟลิคเสริมด้วยเช่นกัน

9. ผู้ที่กินยาเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน ให้ระมัดระวังการได้รับวิตามินอีในขนาดสูง เพราะมีผลรบกวนการแข็งตัวของเลือดเช่นกัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมันปลา

10. ระมัดระวังการกินวิตามินรวมเสริมที่มีธาตุเหล็กในผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีธาตุเหล็กเกินในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อพบบุคคลที่ซีดให้ปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะซื้อหาวิตามินมากินเอง

11. ผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีเม็ดเลือดแดงแตกง่าย เช่น G-6-PD deficiency ให้ระวังการกินวิตามินซีในขนาดสูง เพราะจะเร่งการเกิดเม็ดเลือดแดงแตก เป็นอันตรายมาก
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น