เคยสงสัยกันไหมว่าเพราะอะไร กินยาเท่าไหร่ ก็ไม่หายจากอาการป่วยไข้ที่เป็นอยู่สักที บางคนเป็นไข้หวัด กินยาเป็นเดือนๆ ก็ยังไม่หาย เช่นนี้แล้ว คงต้องย้อนกลับไปถามตัวเองก่อนว่า ที่ผ่านๆ มา เมื่อเวลาเป็นหวัด ท้องเสีย หรือได้รับบาดเจ็บมีแผลสด คุณเคยกินยาปฏิชีวนะ เช่น ยาฆ่าเชื้อ หรือยาต้านแบคทีเรียหรือเปล่า ถ้าเคยกินแล้วล่ะก็ นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่คุณควรรู้
เพราะยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ที่คุณกินเข้าไปนั้น หากใช้ผิดโรค ผิดวิธี ก็เท่ากับการ “ทำร้าย” ร่างกายของคุณเอง โดยที่คุณไม่รู้ตัว ด้วยต้นเหตุ อันเกิดมาจาก “เชื้อดื้อยา”
“เชื้อดื้อยา” คืออะไร? หลายคนอาจจะเคยได้ยิน แต่มีใครที่รู้จักมันหรือรู้ถึงความน่ากลัวของมันอย่างถ่องแท้บ้าง?
เล่าให้ฟังง่ายๆ ว่า ปกติแล้ว ในร่างกายของเรานั้นมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่สาเหตุที่ทำให้เราป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีเชื้อโรคตัวร้ายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามารุกราน ซึ่งเชื้อโรคนั้นอาจเป็น ไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้ออื่นๆ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้น คือมีอาการป่วย หลายคนเลือกที่จะรับประทานยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ โดยขาดความเข้าใจว่า ยาต้านแบคทีเรียที่กินเข้าไปนั้น อาจไม่มีผลใดๆ ต่อเชื้อโรคดังกล่าว (เพราะกินยาไม่ถูกโรค) แต่กลับมาทำลายแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในตัวเราไปด้วย
และเหนืออื่นใด ในโลกนี้ ไม่มียาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียใด ที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้หมดสิ้นทุกชนิด ดังนั้น มันก็ย่อมจะมีแบคทีเรียตัวร้ายที่ยังรอดชีวิต และแบคทีเรียพวกนี้ยังสามารถพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น จนกลายเป็น แบคทีเรียดื้อยา หรือ “เชื้อดื้อยา” ไปในที่สุด
สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ เมื่อแบคทีเรียตัวร้ายเหล่านั้นพัฒนาตัวมันไปเรื่อยๆ และแพร่พันธุ์ขยายจำนวนมากขึ้น จากการที่เราใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นหรือใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม สุดท้ายแล้ว แบคทีเรียเหล่านั้นก็จะกลายเป็น “Superbug” หรือ “เชื้อแบคทีเรียที่รักษาได้ยาก” และอาจไม่มีทางรักษาได้เลย
รู้หรือไม่ว่า เมื่อแบคทีเรียเกิดภาวะดื้อยาขึ้นแล้ว นอกจากมันจะแพร่พันธุ์และแพร่กระจายไปสู่คนและสิ่งแวดล้อมได้แล้ว แบคทีเรียดื้อยาเหล่านี้ยังส่งผลให้เราต้องใช้ยาที่แรงขึ้น มีราคาแพงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีความเสี่ยงต่อร่างกายมากขึ้น และถ้าไม่มียาใดต้านแบคทีเรียได้เลย แม้โรคที่ดูพื้นๆ ทั่วไป ก็อาจทำให้เราเสียชีวิตได้
ในประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000 - 38,000 คน กล่าวได้ว่า ทุกๆ 15 นาที จะมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้หนึ่งคน มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและจากอุบัติเหตุ แถมผู้ที่ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 46,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า การที่เชื้อแบคทีเรียจะดื้อยาจนถึงขั้นทำให้รักษาไม่หาย ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้สาเหตุ และสาเหตุหลักๆ ก็มาจากพฤติกรรมการใช้ยาของเราทุกคน เรามาดูกันหน่อยว่า มีพฤติกรรมการใช้ยาแบบใดบ้างที่ถือว่าเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา”
1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินตามคนอื่น
2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรีย เมื่ออาการดีขึ้นแม้ยังกินยาไม่ครบตามกำหนด
3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียกินเอง ตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆ หรือตามคำบอกเล่าต่อๆ กัน
4. เคยอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย
5. เคยแกะแคปซูลเอายาต้านแบคทีเรียไปโรยแผล
6. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรียผสมในอาหารสัตว์ ตามคำบอกเล่า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วย
7. เคยเปลี่ยนไปซื้อยาต้านแบคทีเรียที่แรงกว่า มาทานเอง เมื่อรับประทานยาชนิดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นทันใจ
8. เพิกเฉยต่อการแนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างผิด ให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม
9. เคยใช่ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา
รวมความแล้ว สาเหตุหลักๆ ที่นำไปสู่ปัญหา “เชื้อดื้อยา” ที่กำลังลุกลามอยู่ในทุกวันนี้ คือการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกวิธี และไม่ถูกกับโรค โดยหนึ่งในโรคที่คนเราใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรคมากที่สุด คือ “หวัด” ซึ่งคนทั่วไปมักไม่รู้ว่าโรคหวัดนั้น มากกว่าร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดมาจากเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียซึ่งไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ จึงไม่ช่วยในการรักษาโรคหวัดแต่อย่างใด
จำไว้ว่า ถ้าเป็นหวัดซึ่งเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่มักมีน้ำมูกและไอ อาจมีเสียงแหบและเจ็บคอร่วมด้วย ร่างกายของเรามีภูมิต้านทานที่จะช่วยรักษาตัวเองได้ ขอเพียงให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก พักผ่อนให้เพียงพอ ก็หายได้ แต่ถ้า 1 - 2 สัปดาห์ยังไม่หาย หรือมีอาการคอบวมแดงเป็นหนองอาจเกิดจากมีเชื้อโรคอื่นมาผสมโรง ควรปรึกษาเภสัชกรหรือพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่
สุดท้าย ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องกินตามแพทย์สั่ง และใช้เฉพาะเมื่อการเจ็บป่วยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
ติดตามข้อมูลเชื้อดื้อยาเพิ่มเติมได้ที่ http://atb-aware.thaidrugwatch.org/ หรือ facebook : https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness/