xs
xsm
sm
md
lg

กินมาก อาจถึงตาย เตือนใจวัยคึก..“โปรโคดิล + ทรามาดอล” ไม่ใช่ยามันส์ส์ส์!! / Dr.K

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความโดย : Dr.K

หลายท่านน่าจะยังจำเหตุการณ์ที่โลกออนไลน์แชร์คลิปนักเรียนหญิงตกโคลนในสวนหย่อมใต้สะพานภูมิพล โดยเธอเกิดชักเกร็งขึ้นมา ณ แถวๆ ริมน้ำนั้นพอดี ข่าวบอกว่า อยู่ๆ เธอก็เกิดชักขึ้นมา เป็นเพราะว่าเธอกินยา “โปรโคดิล” (Procodyl®) กินตัวเดียวไม่ว่า ดันไปกินร่วมกับยา “ทรามาดอล” (Tramadol) แถมจำนวนที่กินก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่มากถึง 40 เม็ด

แวบแรกที่เห็นข่าว ถึงกับต้องอุทานกับตัวเองว่า โอ้แม่เจ้า ยานะลูก ไม่ใช่ช็อกโกแล็ต m&m ถึงได้กินเป็นกอบเป็นกำขนาดนั้น

สำหรับคนอายุขนาดผู้เขียน นี่อาจจะเป็นเรื่องชวนช็อกก็ได้ แต่สำหรับเด็กวัยรุ่น ตั้งแต่รุ่นน้อยยันรุ่นมาก คือนับตั้งแต่ ม.ต้น ยันเรียนมหาวิทยาลัย การนำยาสองตัวมาเป็นตัวตั้งต้นที่จะสร้างเครื่องดื่มที่ว่ากันว่ามันทำให้เมาเคลิ้มยิ่งกว่าใดๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ปกติไปเสียแล้ว (ถึงขนาดมีชื่อเรียกเฉพาะกลุ่มเด็กที่ใช้ยาพวกนี้เป็นเครื่องมิกซ์ว่า “ติดโปร”) ปริมาณตามข่าวที่ว่ากินไป 40 เม็ดนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกปลอม ที่หนักกว่านั้นคือ พวกหนูๆ พวกนี้กินเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมบ้าๆ บอๆ พวกนี้กันถี่มากในแต่ละสัปดาห์วัยเรียนของพวกเขา

เอาจริงๆ จากที่ได้เคยพูดคุยกับวัยรุ่น สูตรยาสองตัวที่ผสมจนกลายเป็นเครื่องดื่มนั้น มีทั้งผสมกับชามะนาวผง ผสมกับน้ำหวาน ยันผสมกับนมเปรี้ยว จนเป็นเรื่องน่าคิดว่า จริงๆ แล้ว พวกเด็กสิ้นคิดเหล่านี้กินแล้วรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นจริง หรือแค่หลอกตัวเองว่ามันควรจะเป็น แล้วก็รับสภาพมึน อึน ปวดกระดูก คลื่นเหียน อาเจียน และชักจนหมดลมหายใจในที่สุด

นึกถึงคำพูดในหนังเปาบุ้นจิ้นขึ้นมาทีเดียวว่า “พวกเจ้าสมควรตาย” เพราะทิ้งไว้ก็เป็นภาระ แต่ในสภาพความเป็นจริง ผู้ใหญ่อย่างเราก็คงไม่สามารถพูดอะไรแบบนั้นออกมาได้ เพราะในประเทศที่ดัดจริตแถมอุดมไปด้วยความบริสุทธิ์ทางมายาคติในรูปแบบต่างๆ นั้น เอาเข้าจริง เขาก็จะยกบาปให้ตัวเม็ดยาทั้งสองประเภททั้งสิ้น

ส่วนเด็กสิ้นคิดเหล่านี้ที่ใช้ยากันผิดวิธีและผิดวัตถุประสงค์แบบสุดโต่ง พวกเราต้องออกมาปกป้องงงงงงง!!! ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะมีสมองหรือไม่ก็ตาม

เมื่อมีเด็กเกือบเสียชีวิตเพราะยาสองตัวดังกล่าว ย่อมสะเทือนวงการยาไม่มากก็น้อย ยากลายเป็นผู้ร้ายขึ้นมาทันทีทันใด วันนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับยาทั้งสองตัว และลองทำให้เป็นกลางเพื่อจะมีความยุติธรรมให้กับสิ่งไม่มีชีวิตที่ขึ้นชื่อว่ากับยา

“โปรโคดิล” เป็นชื่อทางการค้าของยาที่มีชื่อสามัญทางยาหรือว่ากันง่ายๆ แต่มีชื่อจริงว่า “โปรเมทาซีน” (Promethazine) และมีชื่อการค้าอื่น เช่น Phenergan ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ ดังนั้น ข้อบ่งใช้ก็จะวนเวียนอยู่กับการรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดจากการแพ้โน้นแพ้นี้ เช่น คันผื่นแพ้ น้ำมูกไหล

นอกจากนี้ ตัวมันยังมีฤทธิ์ป้องกันการเมารถ เมาเรือ รวมทั้งลดอาการอาเจียนได้ด้วย แถมยังออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีสรรพคุณใช้เป็น “ยาสงบประสาท ก่อนหรือหลังการผ่าตัด” แต่ต้องใช้ร่วมกับยาระงับปวด/ยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ใช้ยานอนหลับได้ แต่ทั้งนี้ ขนาดยาที่ใช้เพื่อให้ได้ฤทธิ์ต่างๆ ตามที่เราต้องการ ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ...ย้ำว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มิใช่ไอ้หนูที่ไหนที่คิดสูตรผสมขึ้นมาแล้วเอามากินกับนมเปรี้ยวแบบนั้น

ขนาดยาปกติที่ใช้สำหรับแก้แพ้ในผู้ใหญ่คือ 25 มิลลิกรัม วันละครั้งก่อนนอน หรือ 6.25-12.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนการใช้สำหรับข้อบ่งใช้อื่นๆ ก็จะใช้ในขนาดที่สูงขึ้น ทีนี้ต้องเข้าใจว่า แม้โปรเมทาซีนจะมีคุณประโยชน์ในการรักษาอาการดังกล่าวข้างต้น แต่ตัวมันเองก็สามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ที่เราไม่ต้องการได้ เช่น กดระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ปากแห้ง การมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน ปัสสาวะขัด ท้องผูก อาจทำให้เกิดต้อหิน หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะหรือความดันโลหิตต่ำ ที่สำคัญก็คือ ถ้าใช้ยาในขนาดที่สูงเกินความจำเป็น หรือนำยานี้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็สามารถทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ ชักเกร็งและหมดสติ หัวใจเต้นผิดปกติ ประสาทหลอน หรือแม้กระทั่งเกิดการกดระบบการหายใจ จนสุดท้ายอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

อาการทั้งหมดของคนที่ใช้ในปริมาณเยอะๆ ดูไม่น่าจะมีผลใดที่ทำให้มีความสุขเคลิบเคลิ้มเลย นั่นทำให้วัยรุ่นบ้านเราที่ติด “โปร” นี้ น่าจะจับมาผ่าดูว่า พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตแบบไหนกันแน่ที่แปรเปลี่ยนจากอาการชวนป่วยแบบนี้กลายเป็นความสุขสุดยอด

ส่วนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อ “ทรามาดอล” เป็นยาระงับอาการปวดที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะรู้จักคุ้นเคย โดยเฉพาะผู้ที่มักจะมีอาการปวดที่บรรเทาด้วยยาพื้นๆ แต่ไม่ธรรมดาอย่างเช่น พาราเซทตามอล แล้วเอาไม่อยู่ ทรามาดอลจึงเป็นยาที่เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยตัวมันมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางไปจนถึงปวดมาก ขนาดยาสูงสุดที่ยอมรับว่ามันปลอดภัยและไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ใช้อยู่ที่ 300 มิลลิกรัมต่อวัน อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย แม้จะใช้ในขนาดปกติก็ตาม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน สับสน มึนงง เช่นเดียวกับโปรเมทาซีน เมื่อคึกคะนอง ใช้ในทางที่ผิดหรือกินยาในขนาดที่สูงเกินขนาดการรักษา ก็จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ เช่น เกิดอาการชัก กดระบบการหายใจจนถึงทำให้หยุดการหายใจก็ว่าได้

อ่านมาถึงตรงนี้ คงถึงบางอ้อกันว่า เพราะอะไร แม่หนูคนนั้นถึงเกิดอาการชักเกร็งขึ้นมาได้ แค่กินโปรเมทาซีน 40 เม็ด มันก็เกินขนาดไปถึงไหนต่อไหน นี่เธอแถมเจ้าทรามาดอลเข้าไปในร่างกายของเธอด้วย ยิ่งเสริมฤทธิ์เข้าไปเต็มที่เชียวล่ะ ปกติเวลาเราบวกเลข 1+1 = 2 มันเป็นจริงเสมอ และได้ค่านี้แน่ๆ แต่กับยานั้น เราไม่สามารถจะบอกได้อย่างเป๊ะๆ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร โชคดีของแม่หนูที่เจ้ายาสองตัวนี้ไม่ถึงกับเป็นมัจจุราชพรากเอาวิญญาณออกจากร่างของเธอ

ขึ้นชื่อว่ายานั้น ไม่ควรจะลองดีกับมันด้วยการบิดเบือนการใช้ การนำยาโปรเมทาซีนและทรามาดอลในขนาดที่สูงมาผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย (เอาจริงๆ แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เมาล่ะโว้ย) หรือเอามาผสมกับเครื่องดื่มอย่างชามะนาว นมเปรี้ยวเพียงเพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมาและเคลิ้ม จึงเป็นเรื่องเสี่ยงกับการไปนั่งคุยกับมัจจุราช

ข้าน้อยคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรอีกว่าความตายคืออะไร
แต่อยากย้ำว่า ยาทั้งสองตัวนี้สามารถทำให้เราหยุดหายใจได้ เพราะมันจะให้ฤทธิ์ทั้งต่อระบบประสาทส่วนกลาง ยันกดระบบหายใจได้ เมื่อขาดทั้งสติแถมยังอาจจะช่วยหยุดระบบหายใจได้ สุดท้ายคงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

สืบเนื่องจากปัญหาการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มเยาวชนทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งมาตรการออกบทลงโทษและควบคุมการจำหน่ายยาทั้งสองตัวนี้ ซึ่งล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีคำสั่งออกมาเมื่อ 14 ก.ค. 2558 ว่าด้วยการกำหนดรายการยาอันตรายที่ต้องทำบัญชีตามแบบ ข.ย.11 ซึ่งต้องระบุข้อมูลทั้ง lot number ของยา ปริมาณการขาย (ซึ่งก็ต้องอยู่ในจำนวนจำกัดตามข้อบทกฎหมาย) รวมทั้งชื่อของผู้ซื้อยาด้วย แน่นอนยาทั้ง 2 ชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในรายการยาที่ถูกควบคุมตามมาตรการนี้เช่นกัน

ต่ดูเหมือนว่าปัญหาวัยรุ่นทำคอกเทลล์จากยาอันตรายเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ไม่จบสิ้นกันเสียที ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตัวบทกฎหมายและวิธีการแก้ไขมันไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ หรือเพราะวัยรุ่นบ้านเราเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่มีครีเอทีฟกับการแสวงหาเรื่องใส่ตัวอย่างมาก เพราะถ้ายาตัวนี้ไม่มี เขาก็จะหาทางไปยุ่งกับยาตัวอื่นอีกจนได้ โดยเฉพาะเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของวัยรุ่นในบ้านเราช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราจะพบเป็นปรากฏการณ์เดจาวูที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น

คำถามที่อยากจะทิ้งไว้ให้คิดคือ “เราควรโยนบาปและความผิดให้กับเจ้ายาสองหน่อนี้หรือไม่” อาเมน!!
ขอบคุณข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยาสำหรับประชาชน จาก
รศ.ภญ.ชบาไพร โพธิ์สุยะ
นศ.ภ. ณฐชนนท์ ทองพงษ์เนียม และ นศ.ภ. รัชชนก ข่มอาวุธ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เอกสารอ้างอิง
• Promethazine. Drugs.com. 2014 [cited 08/07/2015]. Available from: http://www.drugs.com/promethazine.html.
• Promethazine. MedlinePlus. 2011 [cited 08/07/2015]. Available from: http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682284.html.
• Tramadol. Drugs.com. 2014 [cited 08/07/2015]. Available from: http://www.drugs.com/tramadol.html.
• อย. เผย มาตรการกำกับดูแลยา ทั้ง “โปรโคดิล” และ “ทรามาดอล”ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพและปลอดภัย. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.2015 [cited 08/07/2015]. Available from: http://bit.ly/1JTBJSu.
• Lacy CF, Armstrong LL, Goldman PP, Lance LL. Drug information handbook with international trade names index. 20th ed. Ohio: Lexi-comp; 2011-2012.


กำลังโหลดความคิดเห็น