แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะช่วยรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะให้รอดพ้นจากอาการรุนแรงถึงชีวิต และหายขาดจากโรคได้ แต่หลายกรณีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็พบว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในขั้นรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการตรวจสุขภาพทั่วไปไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติการเต้นของหัวใจผู้ป่วยนั่นเอง แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะวันนี้ แนวทางการรักษาแบบใหม่ CFAE Ablation หรือการจี้ไฟฟ้าหัวใจบริเวณ Complex Fractionated Atrial Electrogram ไม่เพียงรักษาผู้ป่วยในกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้วได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงในการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย |
จากความสำเร็จของการพัฒนาเทคนิคการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ก้าวไปอีกขั้น ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เล็งเห็นถึงการนำวิธีการรักษาแนวทางใหม่ที่เรียกว่า CFAE Ablation (Complex Fractionated Atrial Electrogram) หรือ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ มาใช้ในการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้ว ควบคู่ไปกับการจัดงานอบรมแพทย์ในสาขาสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเผยแพร่ความรู้ เทคนิค และวิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้วไปสู่วงกว้าง
นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เป็นผู้นำในการบรรยายและสาธิตขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยจากห้องปฏิบัติการสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Lab หรือ EP Lab) ผ่านกิจกรรมอบรมเทคนิค ‘CFAE Ablation’ ครั้งที่ 2 เปิดเผยว่า
“เพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ผู้ป่วยอายุน้อย ไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลจากภาวะความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกลไกการเต้นของหัวใจมีความผิดปกติ โดยความรุนแรงของอาการจะมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ไปจนถึงระดับอาการรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในที่สุด
CFAE Ablation หรือการจี้ไฟฟ้าหัวใจบริเวณที่มี Complex Fractionated Atrial Electrogram เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยในกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงในการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
จุดเด่นของเทคนิคดังกล่าวอยู่ที่การนำเทคโนโลยี 3-Dimension Electroanatomical Mapping มาใช้ในการจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ ซึ่งทำให้แพทย์สามารถมองเห็นการทำงานของกระแสไฟฟ้าในหัวใจได้อย่างชัดเจน โดยจะทำการจี้คลื่นไฟฟ้าตรงตำแหน่งที่ผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังมีการกำหนดจุดสีบริเวณหัวใจที่แพทย์ได้ทำการจี้คลื่นไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจี้ซ้ำบริเวณเดิมด้วย
นพ.กุลวี ผู้คิดค้นเทคนิค CFAE Ablation ได้กล่าวถึงความเป็นมาของวิธีการรักษา รวมถึงวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทางศูนย์ได้จัดขึ้นว่า การจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเริ่มนำมาใช้ในวงการแพทย์ระดับนานาชาติเมื่อราว 30 ปีก่อน จากนั้นจึงพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากความชำนาญของแพทย์ และความเจริญรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในการแพทย์
ปัจจุบันการจี้ไฟฟ้าหัวใจก้าวหน้าขึ้นจนสามารถช่วยแพทย์ค้นหาตำแหน่งของคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง และมีความปลอดภัย จนสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง
สำหรับในประเทศไทย แม้เทคนิค Radiofrequency (RF) Ablation จะเป็นที่รู้จักและใช้กันมาแล้วมากกว่า 20 ปี แต่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่มีการวางรากฐาน เพื่อพัฒนาให้แพทย์สามารถนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้จนเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ดังนั้น ความรู้และประสบการณ์ของแพทย์ไทยเกี่ยวกับการจี้ไฟฟ้าหัวใจจึงนับว่ามีอยู่ไม่มากพอเมื่อเทียบกับในประเทศอื่น ๆ ที่รับเอาเทคนิคการจี้ไฟฟ้าหัวใจไปฝึกฝนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
แต่เนื่องจากปัจจัยความสำเร็จของการจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมิได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาเท่านั้น หากต้องมีทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการรักษาในระดับเดียวกันด้วย ดังนั้นนอกจากศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะนำเทคนิค CFAE Ablation มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย แล้ว ศูนย์ฯแห่งนี้ยังได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการจี้ไฟฟ้าหัวใจขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ในการรักษาไปสู่แพทย์ในวงกว้าง โดยเฉพาะเป้าหมายในการสร้างแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีความชำนาญเทคนิคการจี้ไฟฟ้าหัวใจเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยของศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ดียิ่งขึ้น