เมื่อลองนึกย้อนดูแล้วคงแทบจะไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า ในชีวิตไม่เคยเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่ต้องสัมผัสกับมลพิษ สารเคมีที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ผิวหนังอันเป็นเกราะป้องกันด่านแรกของมนุษย์ที่จะสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่แปลกเลยที่โอกาสการเกิดการแพ้หรือระคายเคือง กลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจะพบได้บ่อยมากขึ้น
นพ.คงศักดิ์ สุนทราภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังจาก Skeyndor Clinic ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่า
โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นคำเรียกรวมโรคที่มีอาการอักเสบในชั้นผิวหนัง อาการแสดงมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
โรคผิวหนังอักเสบ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่
โรคผิวหนังอักเสบซึ่งเกิดจากสาเหตุภายนอกร่างกาย หรือพูดง่ายๆ คือ การเกิดผื่นจากการการสัมผัสสารหรือวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน สารเคมี พืช สัตว์หรือแมลงบางชนิดการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส แบ่งได้เป็น 2 กลไก คือ
สารที่สัมผัสก่อความระคายเคืองต่อผิวหนัง จากคุณสมบัติของสารนั้นเอง(Irritant contact dermatitis) เช่น สารที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง สารที่ใช้ในการชำระล้าง ความระคายเคืองจากสารเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดผื่นได้ไม่เลือกบุคคล ผื่นจะเกิดเมื่อผิวหนังไม่สามารถทนต่อความระคายเคืองจากสารเหล่านั้นได้แล้ว ตัวอย่างเช่น แม่บ้านที่ต้องสัมผัสสารระคายเคืองอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน มักจะมีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณที่สัมผัสสารบ่อยๆ เช่นมือหรือเท้า เป็นต้น
สารที่สัมผัสก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ก่อให้เกิดการอักเสบในผิวหนัง (Allergic contact dermatitis) ในกรณีนี้ สารๆหนึ่งจะก่อให้เกิดผื่นเฉพาะในบางคนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น คนๆหนึ่งมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบขึ้น หากสวมเครื่องประดับที่มีโลหะผสมนิกเกิล แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่สามารถสวมใส่ได้
โรคผิวหนังอักเสบซึ่งเกิดจากสาเหตุภายในร่างกายตัวอย่างเช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคผื่นอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis) เป็นต้นปัจจัยทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ความเจ็บป่วย ความเครียด อาจมีผลให้เกิดการเห่อขึ้นของผื่นผิวหนังอักเสบในโรคกลุ่มนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงสามารถมีผื่นเป็นๆหายๆ หรือเรื้อรังได้ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสารก่อความระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น สบู่ ผงซักฟอก ก็สามารถกระตุ้นการเห่อของผื่น หรือทำให้ผื่นแย่ลงได้
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีผื่นผิวหนังอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีอาการเป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง ควรจะปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและหาสาเหตุ เพื่อการรักษาและการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป