xs
xsm
sm
md
lg

คุณรู้มั้ยว่า ลูกของคุณเปลี่ยนโลกได้ เพียงแค่คุณ…ปล่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รู้มั้ยว่าปล่อยลูกเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัว จุดเริ่มต้นที่ช่วยสร้างลูกให้เปลี่ยนโลกใบนี้”

คุณแม่หลายๆ ท่าน คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การที่เด็กจะเติบใหญ่กลายเป็นเด็กที่ฉลาด มีสมองที่เฉียบแหลมและฉับไวนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ หนึ่ง พันธุกรรม สอง สิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งหมายรวมถึงการเลี้ยงดูและโอกาสในการเรียนรู้ที่ได้รับจากพ่อแม่ และ สาม โภชนาการที่ดี

แน่นอนว่าปัจจัยแรกนั้นเป็นเรื่องที่ธรรมชาติมอบมาให้ เราไม่สามารถไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมายนัก ทำให้ปัจจัยสองประการที่เหลือ คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวลูก และ โภชนาการมีผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก

สำหรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กโดยส่วนใหญ่นั้น ปัจจัยเบื้องต้นที่มีอิทธิพลสำหรับเด็กเป็นอย่างแรก คือแนวทางการเลี้ยงดู ซึ่งแนวทางที่พบเห็นเป็นส่วนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเชื่อว่า การที่ลูกจะเติบโตเป็นเด็กฉลาดได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เวลากับการเรียนหนังสือในห้องเรียนให้มาก ลูกต้องจริงจัง ตั้งใจกับการท่องจำตัวหนังสือ แม้ว่าในบางครั้งลูกอาจจะไม่เข้าใจก็ตาม ลูกต้องเรียนพิเศษ กวดวิชาเพิ่มเติมทั้งๆ ที่เพิ่งจะอยู่เพียงชั้นอนุบาล ก็มีการให้ลูกเข้าเรียนติวข้อสอบ ทั้งหมดเหล่านี้จะสามารถทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เก่งและฉลาดมากกว่าคนอื่นได้

นอกจากนี้พ่อแม่บางท่านยังมีการชี้นำหรือบังคับให้ลูกทำตามความฝัน (ของใคร?) เพื่อมาเติมเต็มในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ รวมทั้งมีแนวความคิดว่าการเป็นลูกที่ดีนั้นจะต้องเดินตามกรอบที่พ่อแม่กำหนดเอาไว้ว่าดีงาม เหมาะสมแบบเดียวเท่านั้น และมักจะเผลอใช้คำว่า “ห้าม! อย่า! หยุด! ไม่!” เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่พ่อแม่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ผิดทฤษฎี ผิดจากแนวความคิดและวิธีปฏิบัติของคนทั่วไป ซึ่งการวางกรอบให้ลูกมากเกินไปเช่นนี้แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความหวังดี แต่ก็แฝงไว้ด้วยการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ของลูกด้วยเช่นกัน ลูกจะขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ที่จะได้ลองผิดลองถูกกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน ขาดความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ

ในปัจจุบัน มีแนวทางการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน ที่ปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น มีแนวทางการเลี้ยงลูกแบบใหม่ซึ่งเหมาะสมกับเด็กในวัย 1-3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เปิดรับประสบการณ์ต่างๆ รอบตัว ทุกอย่างเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจ น่าเรียนรู้ โดยเน้นให้ลูกได้เรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัวอย่างเต็มที่ เรียนรู้จักการแก้ปัญหา ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งแนวทางนี้เป็นการให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิต และการเรียนในห้องเรียนกลายเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของลูก [1]

คุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้บังคับ ผู้ห้าม เป็นผู้สนับสนุนโดยเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกในสิ่งที่เขาต้องการ ให้คำแนะนำเมื่อลูกเริ่มเกินขอบแขต การปล่อยให้ลูกเรียนรู้ คิดด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อค้นหาสิ่งที่เขาชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาการทางสมองที่ดีของลูกน้อย [2] จากการวิจัย ยิ่งเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมอง จำนวนเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง

ทั้งนี้การปล่อยให้ลูกได้เล่นสิ่งของต่างๆ อย่างอิสระ ถือเป็นการเรียนรู้อีกทางหนึ่ง ซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องของสมองไปพร้อมๆ กัน [3] เพราะในเวลาที่เด็กเล่นสิ่งต่างๆ รอบตัว จะเป็นการฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น ทางร่างกาย ความคิด อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการเข้าสังคม [4] ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะไม่ใช่การสอนหรือสั่งให้ทำ แต่เกิดจากความสนใจของเด็ก และความอยากทำด้วยตัวเอง ทุกๆ สิ่งที่เด็กได้เล่นจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนารอบด้านในระยะยาวของตัวเด็กเอง การเล่นเป็นการปล่อยให้เด็กเรียนรู้จากทุกสิ่งรอบตัวนั้น เด็กแต่ละคนจะมีความสนใจ ความสามารถที่แตกต่างกัน [5]

จากผลสำรวจที่ผ่านมา สิ่งที่เด็กได้ลงมือทำเอง คิดค้นเอง เรียนรู้เอง จะทำให้เด็กมีความเข้าใจและจดจำได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นพ่อแม่จะสังเกตเห็นสิ่งที่ลูกสนใจ และถนัดได้อย่างชัดเจนในขณะที่ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ เพราะการเล่นของเด็กคือความสนุกสนานที่เด็กจะได้รับพร้อมกับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย ขณะเดียวกันเด็กยังได้ฝึกทักษะประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น การสังเกต(ตา) การฟัง(หู) การได้กลิ่น (จมูก) การชิมรสชาติ (ลิ้น) การสัมผัส (ผิวหนัง) เป็นต้น [6] การปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นหรือรู้มาก่อน จะสร้างความตื่นเต้น อยากรู้อยากลอง อยากค้นคว้ามากขึ้น

การปล่อยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีของเด็ก ทั้งในเรื่องของประสบการณ์ ความอยากรู้อยากเห็น อยากลองสิ่งใหม่ๆ มีการวางแผน และการตัดสินใจที่ดี โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำอยู่ข้างๆ ทำให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดความสามารถที่แตกต่างจากคนอื่นที่จะโตขึ้นไปช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองรวมถึงอาจจะช่วยเปลี่ยนโลกใบนี้ได้

ต้องการรายละเอียด ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่ www.s-momclub.com

อ้างอิงจาก :
[1] Kalliala, M. (2006). Play Culture in a changing world. Berkshire, England: Open University Press.
[2] Claire Lerner, L.C.S.W. and Sharon Greenip, M.Ed.
[3] Mustard, Fraser. “The early years study”
[4] Canadian Council on Learning (Early childhood learning knowledge centre), “Let the children play: Nature’s answer to early learning”, Lessons in learning (Ottawa: CCL, 2006), p.2.
[5] Samuelsson, I.P., & Johansson, E. (2006). Play and learning – inseparable dimensions in preschool practice. Early child development and care 176 (1), pp.47-65. Available at http://www.metapress.com.
[6] Playing and Learning, Beverlie Dietza, Diane Kashin, 2011, Pearson Prentice Hall, ISBN 9780135125464.

กำลังโหลดความคิดเห็น