บริษัท Take-Two Interactive ประกาศดีลใหญ่ซื้อกิจการค่ายเกมแคชวล Zynga คิดเป็นมูลค่าเงินไทยกว่า 4.2 แสนล้านบาท
ในดีลครั้งนี้ ทาง Take-Two ได้ยื่นข้อเสนอโดยอิงจากการปิดตลาดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2022 ให้ราคาพรีเมียมกับหุ้นของ Zynga บวกเพิ่ม 64 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 9.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งหุ้น จ่ายด้วยเงินสด 3.5 ดอลลาร์บวกกับหุ้นของ Take-Two เองที่ 6.36 ดอลลาร์
การซื้อกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสสองสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2022 โดยจะมีการโหวตรับรองจากผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทและขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มูลค่ารวมทั้งหมดราว 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากดีลนี้ ผู้บริหารของ Take-Two จะนำบริษัทที่ควบรวมกันและทีมบริหารของฝั่ง Zynga ก็จะทำหน้าที่เดิมต่อโดยเพิ่มกิจการฝั่งเกมสมาร์ตโฟนของ Take-Two เข้าไปด้วย ให้เข้าไปอยู่ภายใต้แบรนด์ของ Zynga แทน
สำหรับค่าย Zynga ก็เริ่มสร้างชื่อมาจากเกมแนวเรียบง่ายบนเฟซบุ๊กยุคแรกๆ อย่างเช่นเกมทำนา Farmville หรือ Mafia Wars จากนั้นเริ่มขยายฐานทำแพลตฟอร์มของตนเอง จนมาถึงยุคสมาร์ตโฟนปัจจุบันก็มีผลงานหลากหลายแนว ยอดดาวน์โหลดรวมกันทั้งหมดกว่า 4 พันล้านครั้งเข้าถึงกว่า 175 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
ทางฝั่งค่าย Take-Two ก็เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากเกมดัง Grand Theft Auto เกมคาวบอย Red Dead Redemption และเกมวางแผน Civilization รวมถึงแบรนด์ย่อยสำหรับเกมกีฬา 2K Sports ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของวงการคอนโซล PC และได้เสริมทัพฝั่งสมาร์ตโฟนด้วยดีลครั้งนี้
ย้อนรอยขาใหญ่คอนโซลซื้อกิจการเกมแคชวลหลักแสนล้าน
เมื่อปี 2015 ดีลมหึมาลักษณะคล้ายกันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากค่าย Activision Blizzard ที่มีทั้งเกมคอนโซลและ PC ฮิตเป็นจำนวนมาก แต่ยังต้องการตลาดสมาร์ตโฟนและผู้เล่นแคชวลทั่วไปที่มีลักษณะต่างจากคนเล่นเกมแบบฮาร์ดคอร์
บริษัทที่หวยออกในครั้งนั้นคือ King Digital Entertainment เจ้าของเกมฮิต Candy Crush Saga แนวจับคู่ลูกแก้ว โดยมีการทุ่มเงินซื้อหุ้นที่มูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 แสนล้านบาท
เมื่อมองจากสายตาของคนเล่นแนวจริงจัง เกมแคชวลเหล่านี้มักจะถูกมองว่าเรียบง่ายไม่มีสาระหรือบางครั้งก็ตั้งคำถามว่ายังมีคนเล่นอีกหรือ แต่ความจริงแล้ว "คนทั่วไปที่ปกติไม่เล่นเกม" จะสามารถเข้าถึงเกมเหล่านี้ได้ง่ายมียอดโหลดเพิ่มตลอด หยิบขึ้นมาทดลองทันทีโดยไม่ต้องศึกษามาก และบางครั้งก็มีพฤติกรรมติดกลับมาเรื่อยๆ
สำหรับยอดเงินที่ดูมหาศาลกว่าหน้าตาของตัวเกม สิ่งที่ทำให้บริษัทจากฝั่งคอนโซล PC กล้าลงทุนคือการการันตีรายรับต่อปีคำนวณกราฟการเติบโตแล้วคุ้ม พร้อมหวังผลส่ง IP ของตนเองเข้าสู่ผู้เล่นสายนี้ อย่างเช่น Activision ที่นำซีรีส์ Crash Bandicoot ไปทำเกมแนววิ่งตะลุยด่านบนสมาร์ตโฟนแล้วให้แบรนด์ King จัดจำหน่ายแทน
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*