ทีมงาน ผู้จัดการเกม ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน "Detroit: Become Human Media Preview Event" ร่วมทดสอบเกม "Detroit: Become Human" พร้อมสัมภาษณ์หัวหน้าทีมผู้พัฒนาเกมจาก Quantic Dream เผยรายละเอียดที่น่าสนใจ ก่อนที่เกมจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้
"Detroit: Become Human" เป็นเกมแนว Adventure แบบเล่นคนเดียว พัฒนาโดย Quantic Dream ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างเกมที่เน้นการเล่าเรื่องแบบเข้มข้น เห็นได้จากผลงานเกมในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น "Heavy Rain" หรือ "Beyond: Two Souls" ต่างก็เป็นผลงานเกมที่ได้รับการยกย่องในด้านเนื้อเรื่องที่มีความลึกซึ้งกินใจผู้เล่นทั้งสิ้น
สำหรับเนื้อเรื่องของเกม "Detroit: Become Human" กล่าวถึงเมืองดีทรอยต์ ช่วงปี ค.ศ. 2038 ซึ่งเมืองมีความก้าวล้ำเป็นอย่างมากจากการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และการนำหุ่นแอนดรอยด์เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อแอนดรอยด์เริ่มมีพฤติกรรมราวกับว่ามีชีวิต ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มอยู่เหนือการควบคุม ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นแอนดรอยด์ 3 ตัว ได้แก่ Kara, Connor และ Markus ที่ต่างมีมุมมองการใช้ชีวิตในแบบของตนเอง ซึ่งจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทุกทางเลือกและการกระทำจะไม่เพียงแต่กำหนดชะตาของตัวละครเท่านั้น แต่จะส่งผลไปถึงเมืองและผู้คนรอบตัวอีกด้วย
การดำเนินเนื้อเรื่องจะเล่าสลับไปมาระหว่างตัวละครทั้ง 3 โดยในแต่ละ Chapter จะมีการกำหนดเป้าหมายหลักเอาไว้ ผู้เล่นจะมีอิสระในการเลือกเส้นทางการดำเนินเนื้อเรื่องของตัวเอง โดยในบางเหตุการณ์หากผู้เล่นได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลเอาไว้ ก็จะมีตัวเลือกในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ช่วยเหลือตัวประกันของ Connor หากผู้เล่นเลือกที่จะเก็บปืน ก็จะมีตัวเลือกในการใช้ปืนเพื่อข่มขู่หรือโยนทิ้งเพื่อสร้างความเชื่อใจกับอีกฝ่าย แต่ถ้าไม่ได้เก็บปืนมาก็จะต้องใช้การเจรจาต่อรองแทน ซึ่งแต่ละตัวเลือกจะนำไปสู่บทสรุปของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน
เนื้อเรื่องของทั้ง 3 ตัวละครจะให้ประสบการณ์ในการเล่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดย Connor เป็นแอนดรอยด์เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีหน้าที่สืบสวนและจับกุมแอนดรอยด์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เกมเพลย์จึงมีลักษณะเป็นการไขคดีอาชญากรรม สำหรับ Kara เป็นแอนดรอยด์รับใช้ภายในบ้าน เธอถูกซื้อโดยครอบครัวหนึ่งที่ทำให้มุมมองที่เธอมีต่อชีวิตและโลกเปลี่ยนไป เกมเพลย์จะเน้นไปที่การสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เป็นหลัก ส่วน Markus เป็นแอนดรอยด์รับใช้ภายในบ้านที่ตัดสินใจก่อการปฏิวัติเพื่อปลดแอกเหล่าแอนดรอยด์จากการกดขี่ของมนุษย์ ทำให้เกมเพลย์ออกไปทางแนวแอคชั่น
สิ่งที่ผู้เล่นต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือเกมนี้จะไม่มีการ Game Over แม้ว่าทางเลือกของผู้เล่นจะทำให้ตัวละครหลักตาย เนื้อเรื่องของเกมก็จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นหากผู้เล่นไม่อยากให้ตัวละครตัวใดตายก็จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ แต่ทั้งนี้เกมก็ไม่ได้ใจร้าย เพราะยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถย้อนกลับมาเล่นใหม่ โดยหลังจากที่เล่นจบในแต่ละ Chapter จะแสดงแผนภาพทางเลือกของผู้เล่นตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้เล่นสามารถย้อนกลับเลือกเส้นทางใหม่ที่จะนำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างออกไป
หลังจากที่ได้ทดลองเล่น สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือความเรียบเนียนแบบไร้รอยต่อของฉากคัตซีนกับเกมเพลย์ โดยในแต่ละ Chapter จะไม่มีหน้าจอโหลดมาคอยกวนใจ ทำให้ได้รับอรรถรสเสมือนการรับชมภาพยนตร์ซีรี่ย์ที่มีผู้เล่นเป็นผู้กำกับเอง การเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงโดยทิ้งปริศนาและคำถามให้ผู้เล่นคาดเดาผลลัพธ์ในการตัดสินใจของตัวเอง ทำให้การเลือกในแต่ละครั้งสร้างความประหลาดใจได้ทุกเมื่อ การควบคุมถูกออกแบบมาให้สัมพันธ์กับการกระทำต่าง ๆ ของตัวละคร ซึ่งเข้าใจง่าย ทำให้ผู้เล่นสามารถเรียนรู้และสนุกไปกับตัวเกมได้ทันที เรียกได้ว่า "Detroit: Become Human" คือผลสำเร็จของการรวมภาพยนตร์และเกมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์
บทสัมภาษณ์พิเศษ คุณกิลล์โยม เดอ ฟองดัวมิแอร์ (Guillaume de Fondaumière) โปรดิวเซอร์และผู้บริหาร บริษัท Quantic Dream
คุณกิลล์โยม เผยถึงเหตุผลที่เลือกใช้ธีมหุ่นยนต์และโลกอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ณ ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปสู่จุดที่ใช้หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนมนุษย์เกือบทุกด้าน และการสร้างหุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์ไว้ใช้งานภายในบ้านกำลังจะเป็นจริงในอีกไม่นาน คนทั่วไปอาจจะคิดว่าการมาถึงของหุ่นยนต์จะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผลกระทบอีกหลายด้าน เช่น การจ้างงานที่ลดลง คนตกงานจำนวนมาก คนยากจนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหาด้านกฎหมาย หุ่นยนต์ที่มีสติปัญญาควรมีสิทธิเทียบเท่าคนปกติหรือเป็นแค่สิ่งของ สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่ผู้เล่นจะต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
ในเกม "Detroit: Become Human" ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นหุ่นแอนดรอยด์ 3 ตัวละคร เหตุผลที่จะต้องมี 3 ตัวละคร คุณกิลล์โยม เผยว่าทีมพัฒนาอยากให้ผู้เล่นได้รับทราบเรื่องราวผ่านมุมมองที่แตกต่างกันของตัวละครทั้ง 3 เพื่อให้ผู้เล่นสามารถทำความเข้าใจถึงสภาพสังคม และโลกที่เปลี่ยนไปหลังจากที่แอนดรอยด์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ผู้เล่นจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตัวละครทั้ง 3 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทั้ง 3 คนจะได้พบเจอกันหรือไม่ หรือมีท่าทีต่อกันอย่างไร ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของตัวผู้เล่นเอง
ทำไมถึงให้เล่นเป็นแอนดรอยด์แทนที่จะเป็นคนธรรมดา? เหตุผลสำคัญก็คือการนำพาผู้เล่นเข้าไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดของสิ่งที่ทรงภูมิปัญญาแต่ไร้ชีวิตอย่างแอนดรอยด์ ความคิดของเครื่องจักรย่อมตรงไปตรงมาและสมเหตุสมผลเสมอ แต่เมื่อแอนดรอยด์เริ่มมีกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้อารมณ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ ถ้าเช่นนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่แอนดรอยด์จะพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์? ผู้เล่นจะได้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครผ่านการกระทำและการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้เล่นเป็นคนเลือก
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นโดยมีเมืองดีทรอยต์เป็นฉากหลัง ซึ่งเหตุผลที่ทีมพัฒนาเลือกดีทรอยต์ เพราะมีสภาพสังคมที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเกม เดิมเมืองดีทรอยต์เคยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเปิดการค้าเสรี ทำให้มีการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า ทำให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาอาชญากรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัจจุบันดีทรอยต์กำลังพยายามฟื้นฟูเมือง ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมือง ลงทุนทางด้านสาธารณูปโภค สร้างโรงเรียน เพิ่มฐานการผลิตเพื่อลดจำนวนคนว่างงาน ทำให้เมืองค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับคืนมา คล้ายกับเรื่องราวของแอนดรอยด์ที่พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์
ส่วนที่ยากที่สุดในการพัฒนาเกม "Detroit: Become Human" คือการสร้างเรื่องราวทั้งหมดให้มีความเชื่อมโยงกัน เส้นทางที่แตกต่างของแต่ละเหตุการณ์จะต้องเชื่อมโยงไปสู่เหตุการณ์ต่อไปอย่างสมเหตุสมผล เมื่อผู้เล่นได้ซึมซับเรื่องราวของเกม พวกเขาจะเริ่มกำหนดเป้าหมายของตัวเอง ทำให้ทีมพัฒนาต้องสร้างทางเลือกมากมายที่ผู้เล่นคิดว่าจะสามารถทำได้ ซึ่งแต่ละตัวเลือกจะต้องแสดงถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าผลของสิ่งที่เขาเลือกสมเหตุสมผลกับบทสรุปที่เขาได้พบ
"Detroit: Become Human" ไม่ใช่แค่วิดีโอเกมที่ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้แง่คิดในด้านสังคม จิตวิทยา และการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเรา สิ่งที่ผู้เล่นจะได้รับคือการตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการทางความคิด อันจะนำไปสู่เส้นทางที่พวกเราควรก้าวเดินต่อไปในอนาคต
"Detroit: Become Human" วางจำหน่าย 4 รูปแบบ ได้แก่ แบบแผ่นบลูเรย์รุ่น Standard Version (1,890 บาท), แผ่นบลูเรย์รุ่นชุด Collector’s Edition (ประกอบด้วย แผ่นเกม, Art book, Digital Soundtrack และ Dynamic Theme ราคา 2,190 บาท), แบบดิจิตอลดาวน์โหลด Standard Version (1,790 บาท) และดิจิตอลดาวน์โหลด Deluxe Version (ประกอบด้วย ตัวเกม, Digital Art book, Digital Soundtrack และ Dynamic Theme ราคา 2,090 บาท) ผู้ที่สนใจสามารถสั่งจองเกมล่วงหน้าได้ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของ PlayStation ทุกสาขา ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางแฟนเพจ PlayStation Asia
ขอบคุณบริษัท โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ ฮ่องกง สาขาสิงคโปร์ (SIES) ที่สนับสนุนการเดินทางในการร่วมงาน "Detroit: Become Human Media Preview Event" ที่ประเทศฟิลิปปินส์มา ณ ที่นี้ครับ
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับข่าวสารวงการเกมครับ*