xs
xsm
sm
md
lg

Review: Final Fantasy XV ก๊วนเทพบุตร หลุดโคจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แนว แอ็คชั่นอาร์พีจี
ระบบ PS4, Xbox One
เรตเกม PEGI: 16 เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน กาลเวลาผ่านพ้น ทุกสรรพสิ่งย่อมต้องมีการแปรผัน เช่นเดียวกับนิสัยใจคน สังขาร หรือแม้แต่ซีรีส์เกมอาร์พีจีที่มีประวัติยาวนานหลายสิบปีก็มีวันแปรเปลี่ยนตามไปกับเขาด้วย กับครั้งแรกของ "ไฟนอล แฟนตาซี" ที่ผสมควบเอาทั้งระบบอาร์พีจี แอ็คชั่น ชูตติ้ง หลบซ่อนลอบเร้น และสยองขวัญสั่นประสาท มายำรวมไว้ในเกมเดียว

จากกระแสความนิยมของเกมอาร์พีจีฝั่งตะวันตก ที่ฮอตฮิตขายดิบขายดีจนก้าวขึ้นมานำหน้าทิ้ง JRPG ไปแบบไม่เห็นฝุ่น แถมประชาชนคนในประเทศญี่ปุ่นเอง ทุกวันนี้ก็เริ่มเปิดใจรับวัฒนธรรมเกมจากตะวันตกกันมากขึ้น อย่างที่เราเคยได้ยินข่าวกันว่าเกมแนวชูตติ้ง FPS สามารถทะยานขึ้นติดอับดับหนึ่งเกมขายดีในญี่ปุ่น มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากค่ายเกมอาร์พีจียักษ์ใหญ่แดนซามูไร จะต้องดิ้นรนค้นคิดหาทางออกรับมือกับอุตสาหกรรมเกมที่กำลังแปรเปลี่ยนไปในยุคโลกาภิวัตน์ ต่อให้มันเป็นเส้นทางที่ตนไม่รู้จักมักคุ้นก็ตาม

ซึ่ง "ไฟนอล แฟนตาซี 15" มันก็คือผลผลิตจากแนวความคิดเหล่านั้น กับความพยายามครั้งใหม่ของค่ายสแควร์เอนิกส์ ที่หวังนำเสนอประสบการณ์เกมอาร์พีจีในรูปแบบโอเพ่นเวิลด์ มอบอิสระเสรีให้กับผู้เล่นอย่างเต็มที่ ภายใต้การกำกับดูแลของ "ฮาจิเมะ ทาบาตะ" ไดเร็กเตอร์ผู้ดูแลรับผิดชอบโปรเจกต์เกมไฟนอลฯภาคแยกมามากมาย อาทิ Before Crisis: Final Fantasy VII, Crisis Core: Final Fantasy VII หรือ Final Fantasy Type-0 ซึ่งการขยับก้าวขึ้นมาคุมไฟนอลฯภาคหลักในครั้งนี้ เขาก็ได้หยิบนำเอาระบบเกมเพลย์ที่ตนถนัดมาประยุกต์ใช้ กับแนวเกมสไตล์ "แอ็คชั่นอาร์พีจี"

สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์แอนิเมชั่น Kingsglaive: Final Fantasy XV คงรู้สึกแปลกใจกับเนื้อหาที่ชวนงงปะติดปะต่อไม่ถูก เริ่มขึ้นมาก็เห็นสี่หนุ่มนั่งรถออกเดินทาง ไม่มีฉากเกริ่นนำบอกเล่าเรื่องราวใดๆทั้งสิ้น บีบบังคับให้ผู้เล่นต้องเสียเวลาหาหนังเรื่องดังกล่าวมาเปิดนั่งดูเกือบสองชั่วโมง เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาความเป็นไปทั้งหมดโดยเรื่องราวจะบอกเล่ากล่าวถึงเชื้อไฟสงครามระหว่าง "ลูซิส" อาณาจักรเวทย์มนต์ผู้ปกปักษ์คริสตัล กับ "นิฟไฮม์" มหาอำนาจเครื่องจักร ที่มุ่งหมายใช้กำลังทหารเข้ารุกราน ซึ่งตัวละครที่ผู้เล่นจะได้รับบทเพียงตัวเดียวตลอดทั้งเกม นั่นคือ "น็อคติส" มหาบุรุษเชื้อพระวงศ์คนสุดท้ายแห่งอาณาจักรลูซิส ที่ต้องออกเดินทางไปกับมิตรสหายองครักษ์ทั้งสาม เพื่อตามหาพลังมาแก้แค้นทวงบัลลังก์ และช่วงชิงดินแดนบ้านเกิดของตนกลับคืนมา รวมถึงค้นพบความจริงเบื้องหลังการบุกโจมตีในครั้งนี้ว่า มันอาจมีความน่ากลัวสุดสะพรึงบางอย่างที่เกินกว่าจินตนาการของพวกเขาแอบแฝงอยู่

ระบบแอ็คชั่นอาร์พีจีในเกมนี้ จะให้อารมณ์คล้ายๆกับซีรีส์ "คิงดอมฮาร์ต" ที่ตัวเราสามารถบังคับตัวละครเดิน วิ่ง หรือกระโดดไปมาในฉากได้อย่างอิสระ แต่สำหรับไฟนอลฯ 15 นั้น แอ็คชั่นทุกอย่างจะดูค่อนข้างรวดเร็วฉับไวกว่ามาก อันเป็นผลมาจากสกิล "วาร์ป" ของตัวละครเอก ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆได้ในพริบตา หรือเข้าจู่โจมแบบสายฟ้าแลบจากระยะไกล ไม่ว่าศัตรูจะอยู่บนพื้นหรือกลางอากาศ แต่อย่างไรก็ดี สกิลวาร์ปแสนเท่นี้มันก็มีข้อจำกัด เนื่องด้วยมันเป็นท่าที่ค่อนข้างสิ้นเปลืองพลัง MP หากใช้เพลินจนหมดหลอด ตัวละครของเราก็จะไม่สามารถหลบการโจมตี และกลายเป็นเป้านิ่งในทันที

นอกเหนือจากสกิลวาร์ปติดตัวแล้ว องค์ชายน้อยผู้มีใบหน้าเหมือนเพื่อนสนิทของนารูโตะนี้ เขายังสามารถใช้เวทย์มนต์ไฟ สายฟ้า และน้ำแข็ง ได้แบบเดียวกับตัวละครไฟนอลฯภาคอื่นๆ เพียงแต่พลังเวทย์มนต์ในภาคนี้จะถูกบรรจุภัณฑ์อยู่ในรูปแบบก้อนระเบิดเอาไว้ปาใส่ศัตรู ซึ่ง "ระเบิดเวทย์" ในภาคนี้จะคล้ายๆกับอาวุธไอเทมชิ้นหนึ่งที่เราต้องคราฟต์สร้างขึ้นมาใช้เอง โดยการผสมผสานธาตุที่มีให้ดูดซับตามฉาก หากเรายิ่งใส่ธาตุลงไปมากเท่าไหร่ ระเบิดเวทย์ของเราก็จะยิ่งรุนแรงทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น จากเวทย์ Fire ธรรมดาอาจกลายเป็น Fira และขึ้นไปสุดที่ Firaga เป็นต้น ซึ่งการหันกลับไปใช้ระบบเวทย์มนต์ในรูปแบบไอเทมเหมือนตอน FFVIII นี้ ก็ถือเป็นทางออกที่ดีที่ทำให้ในระหว่างการต่อสู้ ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องมานั่งพะวงว่าเวทย์มนต์ที่ตนร่ายไป จะมาแย่ง MP ที่ต้องใช้ในการวาร์ปหลบหลีกนั่นเอง

อีกหนึ่งระบบที่เปลี่ยนไปในไฟนอลฯภาคนี้ คือค่าพลัง HP และ MP ของตัวเรา ที่จะฟื้นกลับคืนอัตโนมัติทุกครั้งหลังจบศึก แถมในเวลาต่อสู้เรายังสามารถปลีกตัวไปแอบหลบอยู่หลังก้อนหิน หรือตามที่กำบัง เพื่อฟื้นฟูค่าพลังชีวิตเหมือนอย่างเกมยิง FPS ได้อีกด้วย และหากนำมันไปรวมกับระดับความยาก ที่ตัวเกมมีให้ปรับลดปรับเพิ่มได้ตลอดเวลาแล้ว จึงทำให้ FFXV กลายเป็น ไฟนอล แฟนตาซี ภาคที่เล่นง่ายที่สุดนับตั้งแต่ที่ซีรีส์นี้เคยมีมา สมดั่งคำสโลแกนแปะหัวของทีมผู้พัฒนาที่พยายามเน้นมุ่งหวังเจาะตลาดกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับเกม "อาร์พีจี"

ถึงแม้แอ็คชั่นของเกมจะดูลื่นไหลบังคับง่ายด้วยการกดเพียงไม่กี่ปุ่ม แต่ก็ใช่ว่าประสบการณ์ต่อสู้ปะทะกับศัตรูมันจะดูราบรื่นเสมอไป เพราะอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเกมนี้เป็นผลงานการกำกับของ "ทาบาตะ" บุคคลผู้ที่เคยฝากประสบการณ์มุมกล้องนรกดูไม่รู้เรื่อง และเหล่า AI ไร้การศึกษา มาแล้วกับเกมไฟนอลฯไทป์ซีโร่ ซึ่งปัญหากวนใจเก่าๆเหล่านั้นมันก็ได้หวนกลับคืนมาหลอกหลอนผู้เล่นอีกครั้งในเกมไฟนอลฯภาคล่าสุดนี้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาตัวละครของเราเลือดหมดไร้เรี่ยวแรง เพื่อนที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมกลับต้องเสียเวลาเดินวนเวียนเทียนรอบตัวเรา 3 ครั้งกว่าจะช่วยฮีลเราได้สำเร็จ หรือตัวละคร "พรอมพ์โต อาร์เจนตัม" หนุ่มเพื่อนสนิทผมทองของตัวเอก ที่นอกจากจะมีนิสัยงอแงเป็นเด็กผู้หญิงแล้ว ในการต่อสู้เขายังเป็นตัวละครที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่ม เนื่องด้วยสายอาชีพของเจ้าตัวที่ถูกกำหนดมาให้เป็นนักแม่นปืนเล็งยิงจากระยะไกล แต่ไม่รู้ว่าสายตาสั้น หรือมีเหตุผลอะไรดลใจใยเราถึงได้เห็นบุรุษแสนน่ารำคาญผู้นี้โผล่ไปยืนประจำจังก้าอยู่แดนหน้าข้าศึกตลอด และเป็นตัวละครที่ตายก่อนเพื่อนเสมอทุกครั้งไป

ด้วยรูปแบบโอเพ่นเวิลด์ที่ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในไฟนอลแฟนตาซีภาคนี้ ผู้เล่นจึงมีอิสระในการเรียงลำดับเลือกเควสต์ที่จะทำก่อนหลังได้ตามใจชอบ เพียงแต่เควสต์หลักในภารกิจตามหาพลังเพื่อมากอบกู้บัลลังก์ กับเควสต์รองหาของจับเขียดที่ตัวเกมพยายามยัดเยียดมาให้ ดูแล้วไม่ค่อยจะสอดคล้องไปด้วยกันได้สักเท่าไหร่ และอีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างคาใจขัดแย้งกันนั่นคือ ตัวเราเป็นถึงเจ้าชายแต่กลับไม่พกเงินติดตัว ต้องมาคอยรับจ้างรับจ๊อบจากชาวเมืองเพื่อหาเงินมาซื้อไอเทม ซื้ออาวุธ หรือเป็นค่านอนค้างคืนตามโรงแรม นี่ยังไม่นับรวมการที่ต้องมาเสียเวลาถ่ายรูปเซลฟี่เก็บภาพบรรยากาศตามจุดชมวิวต่างๆที่เราไปเยือน ซึ่งดูแล้วให้อารมณ์เหมือนเรามาออกทริปเที่ยวเล่นสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้กับผองเพื่อนไปวันๆ ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงการเป็นรัชทายาทที่เพิ่งสูญเสียดินแดนบ้านเกิด หรือบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตไปแม้แต่นิดเดียว

แม้จะฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล และรู้สึกติดขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเดินทางผจญภัยแบ็คแพ็คไปปิกนิกตั้งแคมป์กางเต๊นท์กลางป่ากลางเขาค่ำไหนนอนนั่น ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยรูปแบบจะเวียนวนเป็นแพทเทิร์นราวกับกิจวัตรประจำวัน ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหาของ ล่ามอนสเตอร์ หรือนั่งรถเดินทางส่งเควสต์เหนื่อยมาทั้งวัน เมื่ออาทิตย์อัสดงลาลับฟ้ามืดดับ ก็ถึงคราวที่ผู้เล่นต้องหาสถานที่นอนหลับพักผ่อน เพื่อให้ค่า EXP ที่เก็บสะสมมาตลอดวันไปเพิ่มอัพเลเวลให้กับตัวละคร รวมถึงทานอาหารจากฝีมือกุ๊กประจำกลุ่มเพื่อช่วยบูสต์เพิ่มค่าพลังให้ตัวละครของเราพร้อมสู้ในวันถัดไป

เนื้อหาหลักของ FFXV นั้นไม่สั้นไม่ยาวนัก สามารถจบได้ในระยะเวลาเฉลี่ย 20 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงครึ่งแรกที่ให้เรามีอิสระตะลอนท่องเที่ยวสำรวจโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล นั่งรถเล่นกินลม หรือขี่โจโคโบะไปไหนมาไหนได้ตามใจ กับช่วงครึ่งหลังที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรงรวบรัด และรู้สึกเหมือนแอบเผางานหน่อยๆ จากการที่ทีมพัฒนาได้คัดสรรหยิบนำองค์ประกอบของเกมดังๆจากค่ายอื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Metal Gear Solid, Zone of The Enders หรือแม้กระทั่งบรรยากาศความสยองของ Silent Hill ก็ยังโชยมาตุๆ โดยเฉพาะมุก "ตุ้งแช่" ที่ทำเอาผู้เล่นตกใจขวัญผวาขนลุกขนชันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไฟนอลแฟนตาซี แต่อย่างไรก็ดี หากเราฝืนทนจนผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านั้นไปได้ ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นไฟนอลฯในแบบฉบับที่เราคุ้นเคย อย่างการตามหาอาวุธในตำนาน สู้กับมอนสเตอร์สุดอึดแบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืน หรือดันเจี้ยนลับที่มีให้ค้นหาหลังจบเกม

"Final Fantasy XV" นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจไม่ค่อยถูกใจนักสำหรับแฟนคลับที่ติดตามซีรีส์นี้มานาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเกมจะเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่อยากลืม แต่มันก็พอมีโมเมนต์ดีๆให้น่าจดจำอยู่บ้าง อย่างระบบเกมเพลย์แอ็คชั่นสุดลื่นไหล ความลับในเกมที่มีอยู่มากมาย และมิตรภาพความผูกพันของเหล่าผองเพื่อนที่ร่วมกินร่วมนอนไปไหนไปกัน กอปรกับการหันมาจับแนวแอ็คชั่นโอเพ่นเวิลด์ครั้งแรกของซีรีส์ ก็คงเป็นเรื่องที่พอจะอนุโลมปล่อยวางให้ได้ ซึ่งความพลาดพลั้งจากการลองผิดลองถูกของสแควร์เอนิกส์ในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นบทเรียนราคาแพง และเป็นการบ้านงานหนักสำหรับค่ายเกมแดนปลาดิบ ที่ต้องมีเรื่องกลับไปคิดพิจารณาทบทวนกันอีกมาก หากยังอยากคิดที่จะเดินตามรอยเท้าชาวตะวันตก

เกมการเล่น7
กราฟิก9
เสียง9
ความคิดสร้างสรรค์7
ภาพรวม8


ข้อดี : ฉากโอเพ่นเวิลด์สวยงามกว้างใหญ่อลังการ, กลไกแอ็คชั่นการต่อสู้สุดลื่นไหล, เพลงประกอบที่ดังขึ้นมาได้ถูกจังหวะเวลา, มีความลับมากมายให้ค้นหาหลังเล่นจบ และความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของสี่หนุ่ม
ข้อเสีย : กิจกรรมของตัวละครไม่สอดคล้องกับพล็อตเรื่อง, ฉากมูวี่ CG ใส่มาน้อยนิด, AI เบาสมองด้อยปัญญา, พรอมพ์โต อาร์เจนตัม, เควสต์รองหาของแสนน่าเบื่อ, มุมกล้องสุดปวดหัว, มนต์อสูรมีก็เหมือนไม่มี, องค์ประกอบลอบเร้นชวนหงุดหงิด และการเดินทางที่กินเวลาไปครึ่งเกม

Shin
สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ ฮ่องกง สาขาสิงคโปร์ (หรือ SIES)



ไฟนอลฯกับ Eminem มันใช่หรือ?







อันนี้แถมให้


*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*






































กำลังโหลดความคิดเห็น