xs
xsm
sm
md
lg

"Twitch" เข้าไทย โอกาสดีๆของเหล่าคนทำคอนเทนต์เกม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรศักดิ์ วินิจ หรือคุณยุ่น Partnerships Manager ของ Twitch Thailand
สัมภาษณ์พิเศษ "สุรศักดิ์ วินิจ" หรือ คุณยุ่น คนไทยเพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ Twitch แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดไลฟ์สตรีมด้านเกมเบอร์หนึ่งของโลก ที่จะมาบอกเล่ามุมมองของ Twitch รวมถึงโอกาสของวงการเกมไทย และประโยชน์ที่เหล่าคนทำคอนเทนต์จะได้รับ

ปัจจุบันการไลฟ์สตรีม(livestream)เล่นเกมถ่ายทอดสด หรือการชมการแข่งอีสปอร์ตถ่ายทอดสดเป็นสิ่งที่หาชมกันได้อย่างง่ายดายในแพลตฟอร์มต่างๆ ล่าสุด "Twitch" แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดเกมอันดับหนึ่งของโลกได้แสดงความชัดเจนต่อการเข้ามาเปิดตลาดในบ้านเรา ผ่านการแต่งตั้งให้ "สุรศักดิ์ วินิจ" หรือคุณยุ่น เป็น Partnerships Manager ของ Twitch Thailand

งานนี้ทีมงานผู้จัดการเกมจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณยุุ่นถึงการก้าวเข้ามาของ Twitch แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมยักษ์ใหญ่ของโลก

ประสบการณ์สื่อเกม-บริษัทเกม สู่ Twitch
คุณยุ่น เป็นบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการเกมบ้านเรามานานแล้ว โดยเริ่มจากการทำงานในฐานะของสื่อเกมกับกองบรรณาธิการของ "คอมพ์เกมเมอร์" มีเนื้องานที่ต้องเล่นเกมทดสอบเกมในเชิงลึกและเขียนบทความบรรยายการเล่น จากนั้นก็ได้มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับบริษัทเกมที่มีบทบาทเป็น Publisher จัดจำหน่ายดูแลเกม ซึ่งคุณยุ่นได้ทำงานในตำแหน่ง "เกมแพลนเนอร์"(Game planner) ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้เล่นเพื่อรู้ว่าผู้เล่นต้องการอะไร หรือชอบอะไร รวมถึงต้องคุยกับทีมพัฒนาเกมจากต่างประเทศว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ปรับ เพิ่ม ลด คอนเทนต์ตรงไหนได้บ้าง นอกจากนั้นยังได้ทำงานควบในตำแหน่ง "เกมมาสเตอร์แมเนเจอร์"(Gamemaster Manager) อีกด้วย ซึ่งบทบาทตรงนี้ยุ่นจะต้องกำหนดการทำงานของเกมมาสเตอร์ทั้งหมด ศึกษาวิเคราะห์สถิติจำนวนผู้เข้ามาเล่นเกม เช่น จำนวนผู้เล่นเกม , ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้เล่นอยู่ในเกม หรือจำนวนผู้เล่นที่เข้ามาเล่นพร้อมกันเยอะที่สุดเท่าไร

จากนั้นคุณยุ่นก็ได้รับโอกาสเข้าทำงานกับบริษัท "เกมอินดี้"(Gameindy) ซึ่งเป็นบริษัทเกมสัญชาติไทย ผู้ให้บริการเกมอสุรา การทำงานที่นี่คุณยุ่นได้รับประสบการณ์อย่างมากเนื่องจากเกมอินดี้ มีทีมพัฒนาในสังกัดภายใต้ชื่อ "Debuz" ทำให้คุณยุ่นได้เรียนรู้การทำงานระหว่าง Developer กับ Publisher มีความเข้าใจการทำงานของฝั่งทีมพัฒนา(Developer)ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรเป็นข้อจำกัด

หลังจากสั่งสมประสบการณ์จากบริษัทเกม 2 แห่งแล้ว คุณยุ่นเลือกที่จะเดินกลับไปยังคอมพ์เกมเมอร์เพื่อทำงานในโปรเจกต์ "อีสปอร์ต" ภายใต้ชื่อ TGPL หรือเรียกเต็มๆว่า Thailand game professiongal league ซึ่งได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดแข่งอีสปอร์ต การเตรียมการถ่ายทอดสด รวมถึงการหาสปอนเซอร์

Twitch เล็งเห็นถึงความสามารถ
ในช่วงที่คุณยุ่นทำ TGPL ได้มีความพยายามติดต่อกับ Twitch แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมยักษ์ใหญ่ของโลกเพื่อขอเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อโอกาสในด้านฟังก์ชันการปรับให้ผู้ชมสามารถดูภาพแบบรายละเอียดสูง รวมถึงมีส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณา ซึ่งจากนั้นมาทีมงานจาก Twitch ก็ติดตามการทำงานของคุณยุ่นมาโดยตลอด จนได้มีการทาบทามให้เข้ามาร่วมงานกับ Twitch ในฐานะผู้จัดการพาร์ทเนอร์ชิพของ Twitch ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อทราบรายละเอียดเนื้องานคุณยุ่นก็ตอบตกลง

Twitch คืออะไร??
ในฐานะคนไทยเพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทน Twitch คุณยุ่นระบุว่า Twitch คือคอมมิวนิตี้คนเล่นเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนเล่นเกมจะมารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในหลายๆด้าน Twitch ใหญ่ที่สุดเพราะยอดคนดู ยอดคนมาใช้บริการ เป็นแพลตฟอร์มที่ทั่วโลกยอมรับ

Twitch เป็นสื่อที่สามารถสร้างกระแสกับเหล่าผู้เล่นเกมได้
หลังจากที่ได้มาร่วมงานกับ Twitch สักพักแล้ว คุณยุ่นได้มอง Twitch เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มหรือคอมมิวนิตี้ แต่มองว่า Twitch เป็นสื่อเหมือนกับสื่อมวลชนทีมีโครงข่ายทั่วโลกและทรงอิทธิพล Twitch มีพลังในการผลักดันให้เกมใดเกมหนึ่งดังจนเป็นกระแสได้ ยกตัวอย่างเกม Overwatch เมื่อออกมาใหม่ๆ ก็จะเพิ่มเซกชันเกม Overwatch ขึ้นมาใน Twitch คนจะมารุมแคสเกมนั้น พอเกมไหนคนเข้ามาแคสเยอะๆ ระบบก็จะดันขึ้นไปเรื่อยๆจนติดท๊อป 5

หรือเกมไหนต้องการที่จะใช้ Twitch ในการสร้างกระแสก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่าง ARAYA เกมสยองขวัญฝีมือคนไทย ที่ปลุกกระแสผ่าน Twitch โดยให้เหล่า Influencer หรือเหล่าสตรีมเมอร์แคสเตอร์ที่มีคนติดตามจำนวนมากได้ลองเล่นก่อนเปิดตัวทำให้คนไทยให้ความสนใจอยากลองเล่นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีการส่งต่อให้ Influencer หรือเหล่าสตรีมเมอร์แคสเตอร์ที่มีคนติดตามจำนวนมากในต่างประเทศได้เล่นด้วย ก็เลยทำให้เกม ARAYA เป็นกระแสในหมู่คนเล่นเกมทั่วโลก

เป็นคนไทยเพียงคนเดียว ทำอะไรบ้าง??
คุณยุ่น เปิดเผยว่าการทำงานจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือ พาร์ทเนอร์ สปอนเซอร์ ผู้ดูแลจัดจำหน่ายเกม(Publisher) และทีมพัฒนาเกม(Developer) ฝั่งที่สองคือคนทำคอนเทนต์ ซึ่งหมายถึงเหล่าสตรีมเมอร์ แคสเตอร์ หรือคนที่ชอบไลฟ์ถ่ายทอดสด โดยตัวคุณยุ่นเองจะเหมือนเป็นคนกลางที่คอยประสานงานกับทั้งสองฝั่งให้เกิดคอนเทนต์เนื้อหาดีๆมีคุณภาพขึ้นบน Twitch

อยากเป็นพาร์ทเนอร์กับ Twitch ต้องทำอย่างไร??

ย้อนกลับไปในสมัยที่พยายามปั้นช่องอีสปอร์ต TGPL คุณยุ่นระบุว่าการจะไปขอเป็นพาร์ทเนอร์กับ Twitch ถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงยอดจำนวนคนดูต้องถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ แต่ในตอนนี้คนทำคอนเทนต์ที่อยากเป็นพาร์ทเนอร์มีส่วนแบ่งรายได้กับทาง Twich จะมีโอกาสมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะตัวคุณยุ่นเองจะเป็นคนพิจารณาคัดกรองในเบื้องต้น โดยคุณยุ่นได้ฝากบอกสิ่งที่คนทำคอนเทนต์ควรทำคือ ความสม่ำเสมอในการไลฟ์สด , คุณภาพของคอนเทนต์ดูแล้วสนุกไหม และจำนวนคนดูเป็นอย่างไร คนดูเยอะไหม แล้วเข้ามาดูนานไหม

เมื่อเป็นพาร์ทเนอร์กับ Twitch แล้วจะมีรายได้อย่างไร??
คุณยุ่น อธิบายว่าบุคคลทั่วไปที่มีไอดี Twitch ก็สามารถรับเงินได้ผ่านการ Donate บริจาคจากคนดู ซึ่งรายได้ตรงนี้ สตรีมเมอร์หรือคนทำคอนเทนต์จะได้รับเงินโดยตรงเน้นๆไม่ผ่าน twitch ซึ่งรายได้จากการบริจาคตรงนี้แทบจะเป็นรายได้มาตรฐานของแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมในปัจจุบัน

สำหรับคนทำคอนเทนต์ที่สร้างสรรผลงานได้ดีและได้รับการอนุมัติเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง Twitch แล้ว รายได้จากการบริจาคก็ยังคงมีเหมือนเดิม แต่จะเพิ่มรายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณา และจำนวนผู้ชมที่กด Subscribe เป็นสมาชิก

รายได้จากค่าโฆษณาเป็นอย่างไร?? บางทีเมื่อผู้ชมกดตามลิงค์ของ Twitch เข้าไปเพื่อดูอะไรสักอย่าง ปรากฏว่าพอเข้าไปเจอโฆษณาก่อน นั่นก็หมายความว่าเจ้าของช่องจะได้ส่วนแบ่งจากค่าโฆษณานั้นด้วย ในส่วนของปุ่ม Subscribe เป็นสมาชิกนั้นจะมีให้กดเฉพาะช่องที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง Twitch ไอดีทั่วไปจะไม่มีปุ่มนี้ การที่ผู้ชมจะกดปุ่ม Subscribe ให้ช่องไหน ก็เหมือนการกดขอเป็นสมาชิกดูรายเดือน เมื่อกดปุ่มไปผู้ชมจะต้องจ่ายเงินให้กับทาง Twitch เป็นเงินจำนวน 4.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ต้องย้ำว่า "ต่อเดือน" หมายความว่าเมื่อกดไปแล้ว จะมีการหักเงินผู้ชมเดือนละ 4.99 เหรียญสหรัฐ(สามารถบอกยกเลิกได้) ซึ่งครึ่งหนึ่งของเงิน 4.99 เหรียญสหรัฐ จะถูกแบ่งให้กับคนทำคอนเทนต์ ส่วนอีกครึ่งจะแบ่งให้กับทาง Twitch

ขออนุญาตยกตัวอย่าง โดยการปัดค่าสมาชิก subscribe เป็นเงิน 5 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถ้าหากมีคน subscribe จำนวน 100 คน ก็เท่ากับว่ามีรายได้ 500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน คนทำคอนเทนต์ก็จะได้ 250 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และ Twitch ก็จะได้ 250 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถ้าทำได้ตามตัวเลขข้างต้นจริงๆ ก็ลองนำเงิน 250 เหรียญสหรัฐ คูณประมาณ 36 บาทไทย คนทำคอนเทนต์คนนั้นก็มีรายได้ต่อเดือน 9,000 บาท

Twitch เข้ามาในไทยมีประโยชน์อย่างไร??
ในฐานะที่อยู่วงการเกมบ้านเราทั้งในด้านของการทำสื่อ และด้านบริษัทเกม คุณยุ่นมองว่า Twitch เป็นบริษัทระดับโลกที่จริงจังเรื่องเกม การเข้ามาในไทยครั้งนี้คือ Twitch เข้ามาลงทุน เป็นการลงทุนเพื่อต้องการคอนเทนต์ดีๆ และจะมีส่วนช่วยสำคัญให้คนทำคอนเทนต์และนักกีฬาอีสปอร์ตมีรายได้ เงินของ Twitch จ่ายเข้ามาเพื่อให้กระตุ้นการสร้างคอนเทนต์ด้านเกมดีๆ นอกจากนั้นบรรดาค่ายเกม หรือคนที่อยากจัดแข่งเกมก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะ Twitch จะมีเงินเข้าไปสนับสนุน

ดู Twitch กระตุก
คุณยุ่น ยอมรับว่าในอดีตการดูสตรีมผ่าน Twitch นั้นกระตุกจริง ด้วยสาเหตุที่เมื่อก่อนเซิร์ฟเวอร์ที่ใกล้ที่สุดคือฮ่องกงซึ่งก็ยังเรียกว่าไกลอยู่ดีทำให้เกิดปัญหาดูแล้วกระตุก แต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีเซิร์ฟเวอร์สิงคโปร์แล้วซึ่งก็ถือว่าใกล้มากและครอบคลุมการใช้งานของผู้ชมชาวไทย แต่หากว่ายังดูแล้วกระตุกอยู่อาจจะเกิดกับอินเทอร์เนทบางรายเท่านั้น และในอนาคตหากว่าอัตราการเติบโตของ Twitch ในไทยไปได้ดี ก็เป็นไปได้ที่จะมีเซิร์ฟเวอร์ Twitch ในไทยให้ดูสตรีมกันลื่นๆไปเลย

บูท Twitch ในงานไทยแลนด์เกมโชว์บิ๊ก 2016 มีอะไรบ้าง
ผู้ที่มาเที่ยวงานไทยแลนด์เกมโชว์บิ๊ก 2016 ที่พารากอนระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคมนี้ หากมาที่บูท Twitch จะได้พบกับเหล่าแคสเตอร์ชื่อดัง รวมถึงมีของพรีเมี่ยมแจกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด แว่นกันแดด หรือเก้าอี้เกมมิ่ง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้นักแคสเตอร์ชื่อดังจะมาสตรีมสดในโซนพิเศษ เปิดให้ผู้ชมที่อยู่ในงาน และทางบ้านได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อทำการกุศล
กำลังโหลดความคิดเห็น