LINE ได้ฤกษ์จัดงานประชุมนักพัฒนาให้แก่ชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมในประเทศไทย ภายใต้งาน “LINE Thailand Developer Day 2016” เป็นครั้งแรก โดยนำข้อมูลจากการเปิดงานประชุมนักพัฒนาของ LINE ที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่น มาย่อยให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเผยถึงทิศทางบริการ LINE ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดช่องให้นักพัฒนาได้เข้าถึงชุดโปรแกรม (API)
นายพฤทธิสิทธิ์ ประทีปะวณิช ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบิสิเนส โซลูชัน ไลน์ ประเทศไทย กล่าวสรุปถึง บริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการที่ทาง LINE เปิดชุดโปรแกรมให้นักพัฒนาทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ (Open API) ว่าจะมีหลักๆด้วยกัน 3 ส่วน คือ เรื่องของ LINE Notify หรือระบบการแจ้งเตือนผ่าน LINE ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่นำ ชุดคำสั่งดังกล่าวไปใช้ สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานผ่านหน้าต่างแชตได้
“LINE Notify ถือเป็นชุดคำสั่งที่พัฒนาขึ้นมาให้ทั้งคนทั่วไป และนักพัฒนาได้ใช้ ด้วยการสร้างระบบส่งข้อมูลอัตโนมัติ (บอท) ขึ้นมาเชื่อมต่อข้อมูลกับเว็บเซอร์วิสต่างๆ ซึ่งเบื้องต้น LINE ได้มีการพาร์ทเนอร์กับ GitHub แหล่งรวมซอร์สโค้ตขนาดใหญ่ ที่จะมีการแจ้งเตือนนักพัฒนาเมื่อโค้ดถูกนำไปใช้ และพัฒนาต่อยอด”
รวมถึง IFTTT ที่เป็นบริการผู้ช่วยออนไลน์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ผู้ใช้สามารถกำหนดชุดคำสั่งอย่างง่ายขึ้นมา และให้ส่งการแจ้งเตือนผ่านทาง LINE และ Mackerel ที่เป็นระบบตรวจสอบสถานะต่างๆ ของเซิร์ฟเวอร์ที่จะช่วยให้ฝ่ายไอทีสามารถได้รับการแจ้งเตือนผ่านข้อความแชตทันที เมื่อเซิร์ฟเวอร์มีสถานะผิดปกติ
ถัดมา คือ การพัฒนาระบบสนทนาผ่าน LINE ด้วยการเปิดฟังก์ชั่น Video Group Call ที่รองรับการวิดีโอคอลพร้อมกัน 200 คนในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากเดิมที่สามารถใช้งาน Group Call ผ่านเสียงได้มาก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการพัฒนาคุณภาพของการสนทนาผ่านเสียง และวิดีโอให้ดีขึ้น
“จากการใช้งานโทรผ่านเสียง หรือวิดีโอคอลล์ใน LINE ตั้งแต่เปิดให้บริการมา พบว่า กว่า 95% ของผู้ใช้ทำการใช้งานผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น LINE จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์เฉพาะขึ้นมา ทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญ คือ ใช้แบนด์วิธให้น้อยที่สุด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพเสียง”
นอกจากนี้ ยังมีระบบ LINE Login ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ LINE จากเดิมที่ระบบการลงชื่อเข้าใช้ด้วย LINE ID จะถูกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ของ LINE ไม่ว่าจะเป็น LINE Game, LINE Pay หรือ LINE Man แต่หลังจากนี้ผู้ที่ให้บริการแพลตฟอร์ม หรือบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์สามารถนำระบบ LINE Login ไปใช้งานในการลงทะเบียนได้แล้ว
โดยระบบของ LINE Login จะใช้งานได้ทั้งแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา หรือการใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์ ทำงานคล้ายๆ กับระบบ Facebook Login เพียงแต่ด้วยการที่ LINE ID เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ทำให้มีโอกาสที่ผู้ใช้จะทำการลงทะเบียนมากกว่าการใช้ Facebook Login ที่มีการระบุตัวตนชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจากการทดลองใช้งานในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน LINE Login สูงกว่ารายที่ให้บริการก่อนหน้าถึง 4 เท่าตัว
สุดท้าย คือ LINE Beacon (บีคอนส์) ที่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี IoT สำหรับใช้ในการส่งข้อมูลระยะสั้น (Bluetooth LE การเชื่อมต่อบลูทูธที่ใช้พลังงานต่ำ) โดยเมื่อผู้ใช้งานเดินเข้าไปในรัศมีที่บีคอนส์ ส่งสัญญาณถึง ก็จะมีการส่งข้อมูลที่น่าสนใจให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นคูปอง รายละเอียดโปรโมชั่น หรือเมนูแนะนำในร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้งาน
นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หนึ่งในพันธมิตรทางธุรกิจที่ปัจจุบันร่วมให้บริการ LINE Man ในการนำข้อมูลร้านอาหารของวงใน มาใช้งาน ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลที่ LINE เปิดให้นักพัฒนาได้เห็น จะช่วยให้ธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัปมีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จากฐานผู้ใช้งานของ LINE ที่มีมากกว่า 33 ล้านราย
“วงใน กำลังเตรียมทำสติกเกอร์ออกมาให้ผู้ใช้งานได้ดาวน์โหลดไปใช้กัน เพื่อสร้างการรับรู้ของวงใน ออกไปยังฐานผู้ใช้งาน LINE ในวงกว้างมากขึ้น หลังจากเริ่มนำระบบแชตบอต เข้ามาใช้งานใน Official Account ของ @Wongnai ในการนำเสนอร้านอาหารที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้”
นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการต่อยอดฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่างการนำ LINE Login เข้ามาใช้ร่วมกับแอปฯ Wongnai รวมถึงการต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต อย่างการนำเทคโนโลยีบีคอนส์ มาใช้งานร่วมกับร้านอาหารในการนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจ
นายพฤทธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายน LINE จะมีการเปิดประกวดนักพัฒนาภายใต้โครงการ Bot Awards ที่เริ่มเปิดให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดชิงเงินรางวัลกว่า 10 ล้านเยน ซึ่งจะมีการประกาศผลในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2560 ซึ่งสำหรับในประเทศไทย ก็จะมีการจัดโครงการสนับสนุนนักพัฒนาเข้าร่วมประกวดควบคู่กันไป เพื่อสร้างชุมชนนักพัฒนา LINE ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
Company Relate Link :
LINE